TLI ตั้งเป้า’67 เบี้ยรวมโต 2-4% รุกสินค้ามูลค่าสูง-ลงทุนนอกดันกำไร

HoonSmart.com>>ไทยประกันชีวิต ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมปี 2567 เติบโต 2-4% มั่นใจกำไรประกัน-ลงทุนโตต่อเนื่อง ผลตอบแทนตลาดหุ้นอเมริกาเหนือ-ญี่ปุ่นสูงขึ้น ปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน 100% ยันปันผลขั้นต่ำ 0.34 บาทต่อหุ้น

นางวรางค์ ไชยวรรณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยประกันชีวิต (TLI) เปิดเผยว่า ปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยรับรวมเติบโต 2-4% จากปี 2566 ( ปี 2566 มีเบี้ยรับรวม 89,732.99 ล้านบาท) ภายใต้ความตั้งใจที่จะเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน นำกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนมายึดเป็นคุณค่าหลักในการดำเนินงาน 3 มิติ คือ TLI โดย T มาจากคำว่า Trusted Partner ตอบโจทย์ทุกความไว้วางใจและสร้างระบบนิเวศระบบการทำงานให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์บริการภายใต้หลักธรรมาภิบาลสูงสุด มิติที่ 2 คือ L มาจากคำว่า Lif Inclusion เชื่อมประสบการณ์สู่โอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้กับชุมชนในประเทศ และมิติที่ 3 คือ I มาจาก Infinite World พร้อมส่งมอบโลกที่ดีกว่าและโลกที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป

สำหรับ แนวโน้มผลกำไรในปี 2567 คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวลดลง จะไม่กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรจากการรับประกันภัย และ กำไรจากการลงทุน เพราะมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ในส่วนของกำไรจากการรับประกันภัย มุ่งเน้นขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มีมูลค่าสูง ที่สามารถสร้างการเติบโตของมูลค่ากําไรของธุรกิจใหม่ (VONB)ได้ในระยะยาว และผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น ประกันชีวิตแบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล ประกันชีวิตควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติม โดยกลยุทธ์นี้ได้นำมาใช้ในทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งผ่านตัวแทนระดับผู้บริหารหน่วยที่มี 26,000 คน ผ่านพันธมิตรองค์กร ธนาคาร บริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อ

ด้านช่องทางตัวแทนในปี 2567 มุ่งเน้นกลยุทธ์ 2 ด้าน คือ การยกระดับการสรรหาตัวแทน ด้วยการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของตัวแทนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อีกด้านคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการขายของตัวแทน โดยการใช้เครื่องมือการขายแบบดิจิทัลและเครื่องมือทางการตลาดแบบต่างๆ เชื่อว่าจะจะสามารถเพิ่มจำนวนตัวแทนให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 29,000 คน และยอดขายให้เข้าสู่ระดับเดิมก่อนช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด ซึ่งปีที่ผ่านมาช่องทางตัวแทนสามารถทำยอดขายมาเป็นอันดับ 2 ของตลาด และมีตัวแทนที่ติดคุณวุฒิ MDRT กว่า 700 คน จัดอยู่อันดับ 2 ของตลาด

สำหรับช่องทางพันธมิตร ยังคงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรในปัจจุบันที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมลูกค้าทุกช่วงรายได้ เพื่อสร้างยอดขายที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็มุ่งหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อขยายธุรกิจ

“ตัวแทนจะเน้นขายแบบประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองชีวิต โรคร้ายแรง คุ้มครองอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล สุขภาพ ในขณะที่ช่องทางธนาคารจะขาย Wealth Product เช่น ประกันควบการลงทุน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เน้นการวางแผนการเงิน ส่วนของบริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อ จะขายประกันสินเชื่อ ทำให้เรามีผลิตภัณฑ์หลายแบบ สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่มของตลาดในประเทศไทย”นางวรางค์ กล่าว

นางวรางค์ กล่าวว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงไม่กระทบต่อกำไรจากการรับประกันภัยเท่าไหร่นัก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการจ่ายผลตอบแทนให้ลูกค้า ยึดอัตราดอกเบี้ยเมื่อปี 2562-2563 ช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้สูง เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงในช่วงปลายปีก็ไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับของเดิม

ส่วนผลกระทบจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ปี 2568 นั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนสินค้าที่ขาย โดยไปเน้นขายสินค้าที่ให้กำไรสูง เมื่อมีการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่จะไม่กระทบกับมูลค่ากําไรของธุรกิจใหม่ หรือ VONB เพราะไม่มี Business Strain ค่าใช้จ่ายในปีแรกๆ ของกรมธรรม์ไม่สูง ซึ่งทางบริษัทได้เน้นขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่

สำหรับ การจ่ายปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2567 มั่นใจว่าขั้นต่ำสามารถจ่ายได้ตามอัตราปกติ คือ หุ้นละ 0.34 บาทต่อหุ้น เพราะมั่นใจว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสรังสี ลิมปรังษี รองประธานอาวุโส ฝ่ายการลงทุน TLI คาดว่า ปี 2567 ความสามารถทำกำไรจากการลงทุนยังดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ ที่บริษัทจะเน้นลงทุนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับดัชนีเอ็มเอสซีไอคันทรี่เวิลด์ อินเด็กซ์ ที่ส่วนใหญ่จะลงทุนในทวีปอเมริกาเหนือกว่า 10% และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 ที่ให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 100% หากลงทุนในตราสารหนี้จะใช้ Cross Currency Swap ในการป้องกันความเสี่ยง ส่วนการลงทุนในตราสารทุนจะใช้ Forward contract ในการป้องกันความเสี่ยง จึงไม่มี Exposure

“ช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนจากตลาดหุ้นต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดี ยัง Perform ได้ดี จะเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ก็ยังเห็นว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี ทำให้หุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และในอนาคตก็มองไม่ได้แตกต่างมาก อัตราเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวลดลง อัตราเงินอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับตัวลดลงได้ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยคาดหวังว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น”นายสรังสี กล่าว

นายสรังสี กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2566 มีการลงทุนในตราสารหนี้ 80% ที่เหลือเป็นการลงทุนในหุ้นในและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นพันธบัตรรัฐบาล ส่วนเอกชนจะมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB ขึ้นไป จึงไม่มีหุ้นกู้ที่กำลังมีปัญหาที่เป็นข่าวในปัจจุบัน

ขณะที่ การลงทุนในธนาคารไทยเครดิต ปัจจุบันมีมูลค่าการตลาดที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชี ซึ่งอยู่ในบัญชีสินทรัพย์เพื่อขาย ดังนั้นในแง่ของมูลค่าที่มีการเพิ่มขึ้น จะลงบัญชีในส่วนของผู้ถือหุ้นโดยจะสะท้อนกำไรในทางบัญชี

นายฉี -หลิง หยาง หัวหน้านักคณิตศาสตร์ประกันภัย TLI กล่าวว่า การที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง จะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงมีราคาสูงขึ้น เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการออกสินค้าใหม่จะเน้นให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยและเวลาของสินทรัพย์ลงทุน ฉะนั้นจะไม่กระทบกับกำไรจากการรับประกันภัยมากนัก

นายนิติพงษ์ ปรัชญานิมิต รองผู้จัดการใหญ่ TLI กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ My Wellness Vital Scan บริการเช็กสุขภาพเบื้องต้นผ่านการสแกนใบหน้าด้วยเทคโนโลยี AI สำหรับลูกค้าที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป โดยตรวจเช็กค่าสุขภาพ 9 ด้าน ได้แก่ คะแนนรวมด้านสุขภาพ, อัตราการเต้นของหัวใจ, ความดันโลหิต, อัตราการหายใจ, ดัชนีมวลกาย (BMI), อัตราส่วนรอบเอวต่อส่วนสูง, ดัชนีรูปร่าง, ระดับความเครียด และอายุผิวหน้า โดยลูกค้าสามารถใช้บริการ 1 ครั้ง/คน/เดือน ได้จนถึง 30 เมษายน 2567

ขณะที่ ฟีเจอร์ Family Policy กรมธรรม์คนในครอบครัว เพื่อให้ลูกค้าจะสามารถเข้าดูข้อมูลกรมธรรม์และชําระเบี้ยประกันภัยแทนคนในครอบครัวผ่านแอปพลิเคชันของตนเองได้ทันที

นอกจากนี้ ยังจัดแคมเปญ Gamification เกมล่าขุมทรัพย์ใต้ทะเล โดยลูกค้าสามารถเล่นเกม เก็บของจากหีบสมบัติใต้ทะเลและรับคะแนนตามที่กําหนด ที่สามารถนำไปแลกของกำนัลได้จริง

“เรามุ่งพัฒนาแอปพลิเคชัน ให้เป็นมากกว่า Functional Application แต่ต้องเป็น Lifestyle Application ควบคู่กัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานแอปพลิเคชันในชีวิตประจำวันได้ สอดคล้องกับการเป็น Life Solutions สำหรับลูกค้า โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ไทยประกันชีวิตแล้วจำนวน 780,000 ราย”นายนิติพงษ์ กล่าว