ดาวโจนส์ปิดดิ่งลง 715 จุด วิตกเงินเฟ้อ-ภาษีทรัมป์

HoonSmat.com>>ตลาดหุ้นสหรัฐทั้งสามแห่งดิ่งลงแรง ดาวโจนส์ร่วง 715 จุดหรือ -1.69% Nasdaq ทรุด 481.04 จุด หรือ-2.70% ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดทำให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจที่อ่อนแอและเงินเฟ้อที่สูง ประกอบกับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้เฟดไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ ตลาดหุ้นยุโรปและราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 28 มี.ค.2568 ปิดที่ 41,583.90 จุด ลดลง 715.80 จุด หรือ -1.69% จากการเทขายหุ้นAmazon Microsoft และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่นๆ หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดทำให้เกิดความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและเงินเฟ้อที่สูง ประกอบกับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,580.94 จุด ลดลง 112.37 จุด, -1.97%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,322.99 จุด ลดลง 481.04 จุด, -2.70%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.96% ดัชนี S&P500 ลดลง 1.53% และดัชนี Nasdaq ลดลง 2.59% และมีแนวโน้มที่จะลดลง 8% ในรอบเดือนนี้

ตลาดร่วงลงหลังการรายงานข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาดในเดือนก.พ.ขณะที่ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE)เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 เดือน

กระทรวงพาณิชย์รายงาน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาด จาก 2.5% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาด

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 2.7% ที่นักวิเคราะห์คาดจาก 2.7% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่า 0.3% ที่นักวิเคราะห์คาด

ขณะเดียวการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1993 ยิ่งทำให้นักลงทุนมีความกังวลมากขึ้น

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค.ลดลงมาที่ 57.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2022 และต่ำกว่า 57.9 ที่นักวิเคราะห์คาด จาก 64.7 ในเดือนก.พ.

ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 5.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า และสูงกว่า 4.3%ที่คาดการณ์ในเดือนก.พ.และคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.1% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่า 3.5% ที่คาดการณ์ในเดือนก.พ.

ข้อมูลทั้งสองชุดทำให้เกิดความกังวลว่าการรีบประกาศภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค. จะทำให้ราคาสินค้าที่นำเข้าพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และทำให้เฟดไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยบ่งชี้ว่า เทรดเดอร์มองว่ามีโอกาส 76% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%ในการประชุมเดือนมิ.ย. จากข้อมูล FedWatch ของ CME

สก็อตต์ เฮลฟ์สไตน์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนที่ Global X กล่าวว่า ตลาดกำลังถูกกดดันจากสองด้าน ทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่เก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocal tariffs ) ที่จะมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์หน้าต่อภาคการส่งออกหลัก เช่น เทคโนโลยี และความกังวลเกี่ยวกับผู้บริโภคที่อ่อนแอลงจากการเผชิญกับราคาที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย

เกร็ก บาสซุค ซีอีโอของ AXS Investments ในนิวยอร์ก กล่าวว่า ประเด็นที่นักลงทุนระวัง ผลกระทบจากภาษีศุลกากรต่อเงินเฟ้อยังไม่ได้สะท้อนในข้อมูล และเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะมุ่เพิ่มขึ้นมากกว่าลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้สิ่งที่ยังคงทำให้กังวลคือภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์และนักลงทุนกำลังจับตาวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศแผนภาษีเพิ่มเติมที่จะชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากที่ส่งสัญญาณว่ามาตรการภาษีอาจจะต่างจากมาตรการตอบโต้ตามที่เคยประกาศก่อนหน้านี้

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมาร์ก คาร์นีย์ของแคนาดาแจ้งกับทรัมป์ว่ารัฐบาลแคนาดาจะใช้ภาษีตอบโต้หลังจากการประกาศเมื่อวันพุธ
ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาษีทำให้หุ้นของบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้น Apple ลดลง 2.7%, หุ้น Microsoft ลดลง 3% และหุ้น Amazon ลดลง 4.3%

หุ้น Lululemon Athletica ผู้ผลิตชุดกีฬาร่วงลง 14% หลังจากปรับลดคาดการณ์รายปี โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีศุลกากร
หุ้นบริษัทเหมืองแร่ Harmony Gold และ Gold Fields พุ่งขึ้น 9.5% และ 4.5% ตามลำดับ จากราคาทองคำที่สูงขึ้นด้วยความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ จากข้อมูลดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ทำให้กังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และเป็นการปิดสัปดาห์แห่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีที่ใหม่ ทำให้นักลงทุนไม่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
ดัชนี STOXX 600 ลดลง 1.4% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 542.10 จุด ลดลง 4.21 จุด, -0.77%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,658.85 จุด ลดลง 7.27 จุด, -0.08%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,916.08 จุด ลดลง 74.03 จุด, -0.93%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 22,461.52 จุด ลดลง 217.22 จุด, -0.96%

แดเนียล ฮาธอร์น นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสจาก Capital.com กล่าวว่า ตลาดหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และมุมมองต่อความเสี่ยงยิ่งแย่ลงไปอีกจากข้อมูล PCE พื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อหุ้นของสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อหุ้นของยุโรปด้วยเช่นกัน
ดัชนี STOXX 600 ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี หลังจากที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศทั้งหมดที่นำเข้ามาก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นก่อนถึงกำหนดในวันที่ 2 เมษายนของการเก็บภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันกับคู่ค้าของสหรัฐฯ

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานเดือนมี.ค.ของเยอรมนีเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2024 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สร้างแรงกดดันต่อตลาดงาน แม้จะเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานในระยะยาวก็ตาม

อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ในสเปนและฝรั่งเศสซึ่งเป็นสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเขตยูโรต่ำกว่าที่คาดการณ์มาก ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนเม.ย.

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของเยอรมนี ซึ่งอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยของ ECB ลดลงมาที่ 2.027% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ 4 มี.ค.

หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเพิ่มขึ้น 1.5% หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคซึ่งมักใช้เป็นตัวแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น 1.6%

หุ้นธนาคาร Deutsche Bank ลดลง 2.9%จากการขยายสัญญาการทำงานกับ คริสเตียน เซวิง ซีอีโอ ขณะที่รองซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงอีกคนจะลาออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้าง

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพ.ค.ลดลง 56 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 69.36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 40 เซนต์ หรือ 0.54% ปิดที่ 73.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 
 
 
 
 
———————————————————————————————————————————————————–