HoonSmart.com>>ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก. เพื่อความรวดเร็ว แก้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพิ่มอำนาจก.ล.ต. โดยเฉพาะคดีสำคัญ หรือมีผลกระทบรุนแรง มีอำนาจสอบสวนทำคดี ส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องเอง ไม่ต้องรอส่งให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 มี.ค. 2568 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ชุดยกระดับการกำกับดูแลกิจการและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และความน่าเชื่อถือในตลาดทุน ตลอดจนมีมาตรการที่สามารถยับยั้งการกระทำผิดในตลาดทุน เพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศ
การแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในประเด็นดังนี้
(1) การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต)
(2) การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน
(3) การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการแทนผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย
(4) การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.
(5) การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำความผิดและยับยั้งความเสียหายและการมอบหมายบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินที่ยึดอายัด
(6) การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
(7) มาตรการการลงโทษกรณีมีการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ ซึ่งมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเครื่องมือในการยับยั้งความเสียหายและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง อันจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมันให้นักลงทุนในตลาดทุนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนให้กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงในหลาย ๆ มิติ ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการกำกับดูแลการขายชอร์ต เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส ด้านการกำกับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพื่อยกระดับการทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการทุจริตของบริษัทจดทะเบียน การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่สำคัญ ครบถ้วนและเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ด้านมาตรการทางกฎหมายเพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเพิ่มอำนาจในการทำคดีของ ก.ล.ต.
การปรับปรุงกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการกำกับดูแล โดยการออกเป็น พ.ร.ก. ตามที่ ครม. เห็นชอบจะช่วยให้การดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อตลาดทุนได้กรณีมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งการเสริมสร้างตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
สำหรับกรณีการเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่มีผลกระทบรุนแรงหรือ high impact ก.ล.ต. มีอำนาจในการทำคดีและเมื่อสรุปสำนวน เสร็จสิ้น จะนำส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องซึ่งเป็นไปตามหลักการ check and balance ตามกระบวนการยุติธรรม การดำเนินการดังกล่าว ก.ล.ต. สามารถบูรณาการพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการร่วมสอบสวนคดีโดยใช้ความเชี่ยวชาญมาช่วยให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายในกรณี high impact รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว