HoonSmart.com>>”บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์” (BAM) เชื่อมั่นบริษัทแข็งแกร่ง คาดปี 68 ผลประกอบการจะกลับมาดีที่สุดในรอบ 3 ปี ตั้งเป้าผลเรียกเก็บรวม 17,800 ล้านบาท ได้รับผลตอบแทน JV AMC จาก ARI AMC และ ARUN AMC หนุนกระแสเงินสดต่อเนื่อง ทริสคงอันดับเครดิต ที่ “A-” ปรับแนวโน้มเป็น “ลบ” จาก “คงที่”
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย รองประธานกรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า BAM มีความมั่นใจในปี 2568 จะยังสร้างผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงขับเคลื่อนของภาครัฐ ส่งผลดีต่อภาวะหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ AMC โดย BAM จะเร่งสร้างรายได้ ผ่านกลยุทธ์ 3S (Speed Up, Sustainable Income, Streamline Process) ตั้งเป้าผลเรียกเก็บรวม 17,800 ล้านบาท จากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) 10,800 ล้านบาท และขายทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะครึ่งปีแรกจะมีผลเรียกเก็บดีขึ้นค่อนข้างชัดเจนจากยอดการอนุมัติที่เริ่มตั้งแต่ต้นปี
ส่วนผลการดำเนินงานปี 2567 อยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยสามารถสร้างผลเรียกเก็บได้เป็นจำนวน 15,161 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2566 ที่ทำได้จำนวน 15,150 ล้านบาท ในขณะที่ผลกำไรยังมีการเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 1,602 ล้านบาท ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีกำไร 1,534 ล้านบาท เป็นผลมาจาก กลยุทธ์เชิงรุกในการบริหารจัดการทั้งทางด้าน NPLs และ NPAs
ด้าน NPLs เน้นกลยุทธ์การสร้างโอกาสและเร่งการประนอมหนี้ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือลูกหนี้หลายโครงการ เช่น โครงการสุขใจได้บ้านคืน โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ และโครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้ รวมทั้งการเร่งการติดต่อและติดตามลูกหนี้ รวมทั้งเร่งกระบวนการขายทอดตลาด เช่น แถลงเร่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกัน แถลงเร่งจัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงิน และร่วมมือกับกรมบังคับคดีจัดมหกรรมขายทอดตลาด เป็นต้น
ในขณะที่กลยุทธ์ NPAs เน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยการออกบูธและจัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการขาย การจัดการทรัพย์ให้พร้อมอยู่ พร้อมใช้ (Renovate) การจำหน่ายทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อย ตลอดจนการกำหนดทรัพย์ราคาพิเศษ และการเพิ่มฐานลูกค้าผ่อนชำระอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการขยายฐานสินทรัพย์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BAM ได้ลงทุนซื้อหนี้โดยคำนึงถึงโครงสร้างเงินทุน ความเสี่ยงในการลงทุน และโอกาสทางธุรกิจ ณ สิ้นปี 2567 มีพอร์ตบริหารหนี้ NPLs (รวม JV ทั้ง 2 แห่ง) มูลค่ารวม 523,513 ล้านบาท และมีพอร์ตทรัพย์สินรอการขาย NPAs มูลค่าตามราคาประเมินรวม 74,517 ล้านบาท ทำให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจของ BAM ซึ่งพร้อมดำรงบทบาทในการเป็นองค์กรที่พลิกฟื้นสินทรัพย์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีการเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทางด้านบริษัททริสเรทติ้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของ BAM เป็น “ลบ” จาก “คงที่”รวมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ระดับ“A-” โดยการเปลี่ยนแนวโน้มในครั้งนี้สะท้อนถึงผลการดําเนินงานทางการเงินที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเห็นได้จากการจัดเก็บเงินสดที่อยู่ในระดับคงที่ เทียบกับสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้นอันดับเครดิตที่ระดับ “A-”ยังคงสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานและความเป็นผู้นําในตลาดบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท อีกทั้งยังสะท้อนถึงภาระหนี้ที่อยู่ในระดับปานกลางและการมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลายด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตมีข้อจํากัดบางส่วนจากปัจจัยเสี่ยงหลากหลายประการ อาทิความเสี่ยงในระดับมหภาคความไม่แน่นอนของกระแสเงินสด ตลอดจนความเสี่ยงสําคัญ ๆ ในสินทรัพย์ภาคอสังหาริมทรัพย์และการกําหนดราคาซื้อสินทรัพย์ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อผลการดําเนินงานทางการเงินได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี
อย่างไรก็ตามทริสมองว่าความเชี่ยวชาญของบริษัทในการตั้งราคาซื้อสินทรัพย์ ตลอดจนกลยุทธ์ในการเลือกลงทุน รวมถึงความหลากหลายของประเภทและสถานที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยลดทอนความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ ผลการดําเนินงานของบริษัทในปี 2567 ต่ํากว่าที่ทริสคาดการณ์ไว้ โดยบริษัทมีการจัดเก็บเงินสดรวมจํานวน1.52 หมื่นล้านบาทซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนหน้า ในขณะที่กําไรสุทธิอยู่ที่จํานวน 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการทํากําไรนั้นอยู่ที่ระดับ1.15% อยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับปี 2566
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการคาดการณ์ของทริสที่มองว่าบริษัทจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการจัดเก็บเงินสดและกําไรในช่วงระหว่างปี 2568-2570 การจัดเก็บเงินสดคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการจัดเก็บและการปรับโครงสร้างหนี้ NPLs ขายทรัพย์สินรอการขาย โดยทริสคาดว่าการจัดเก็บเงินสดจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2570จาก 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และคาดว่ากําไรสุทธิในปี 2568 จะยังคงอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2567 เนื่องจากรายได้จาก NPLs ที่ลดลงและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น หลังจากนั้นกําไรจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2569-2570 เมื่อมาตรการจัดการ NPLs และ NPAs ต่างๆ เริ่มส่งผลดีขึ้น