HoonSmart.com>>”บล.บลูเบลล์” ยังไม่แนะนำลงทุน “หุ้นอินโดนีเซีย” มอง Sentiment ตลาดยังไม่ดี ค่าเงินอ่อน แรงขายต่างชาติกังวลภาษีการค้าสหรัฐฯ กรณีลงทุนอยู่แล้ว แนะถือต่อ รอจังหวะถัวเฉลี่ยต้นทุน มองระยะยาวมีโอกาสฟื้นตัว คาดกำไรบจ.ปี 68 โต 9% สูงสุดในอาเซียน ราคาหุ้นเทรดต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ด้าน “บลจ.ไทยพาณิชย์” ชี้หุ้นอินโดฯ ร่วงจากปัจจัยเฉพาะตัว กังวลฐานะการคลัง คาดหุ้นฟื้นตัว Upside จำกัด
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บลูเบลล์ เผยตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับตัวลงแรง 6% ส่งผลให้ตลาดถูกหยุดซื้อขายชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข่าวลือว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียอาจลาออกจากตำแหน่ง อีกทั้ง ตลาดยังถูกแรงกดดันมาจากปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ โดยเฉพาะจากการปลดพนักงานกว่า 60,000 ตำแหน่ง ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาและแนวโน้มการเติบโตของ GDP ถูกปรับลดลงจาก 5.2% เหลือ 5.0% ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังคงซบเซา ซึ่งหุ้นขนาดใหญ่ และกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
อย่างไรก็ตาม บล.บลูเบลล์ มองว่า ตลาดหุ้นอินโดนีเซียในระยะยาวมีปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ Earning Growth ในปี 2568 อยู่ที่ประมาณ 9% รวมไปถึงการประเมินมูลค่าที่น่าสนใจ จาก P/E ปัจจุบันที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ประมาณ -2SD นอกจากนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมากที่สุดใน ASEAN อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการจดทะเบียนในตลาดทุนจากทางภาครัฐ
“ภาพในระยะสั้น ตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยอื่น เช่น การเปิดตัวกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ “Danantara Indonesia” ที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารกองทุนและธรรมาภิบาลองค์กร ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นอินโดนีเซียในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีปัจจัยกดดันจากค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง และแรงขายจากต่างชาติ เนื่องจากความกังวลด้านภาษีการค้าสหรัฐฯ”
บล.บลูเบลล์ แนะนำการลงทุนหุ้นอินโดนีเซีย หาก IDX Composite ปรับตัวหลุดระดับ 6,000 จุดลงไป ควรทยอยลดน้ำหนัก เพื่อปิดความเสี่ยง เนื่องจากภาพเทคนิคอลดูไม่ดี และจะส่งผลให้ Sentiment ของตลาดจะแย่ในระยะสั้น
สำหรับคนที่ลงทุนอยู่ และสามารถือยาวได้ แนะนำถือต่อ และรอจังหวะในการซื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนลงมา เนื่องจาก Valuation & Growth ของตลาดยังน่าสนใจ ในระยะยาวมีโอกาสฟื้นตัวได้
ส่วนเงินลงทุนใหม่ ยังไม่แนะนำลงทุนในช่วงนี้ เนื่องจาก Sentiment ตลาดยังดูไม่ดีนัก
ด้านบลจ.ไทยพาณิชย์ มองตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับตัวลงแรงเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา จากปัจจัยเฉพาะตัว ได้แก่ ความกังวลต่อฐานะการคลัง หลังจากช่วงปลายสัปดาห์ก่อน กระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย รายงานยอดขาดดุลงบประมาณราว 31.2 ล้านล้านรูเปียห์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 หรือคิดเป็น 0.13% ต่อ GDP แม้ว่า ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2.5% ต่อ GDP แต่นับเป็นการขาดดุลงบประมาณเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยหลัก มาจากการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ลดลงมากเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลง ประกอบกับ นโยบายการขึ้น VAT จากเดิมที่คาดว่าจะนำมาใช้ในปีนี้ ถูกเลื่อนออกไป การใช้จ่ายและการบริโภคมีแนวโน้มอ่อนแรงลง ก่อนจะเข้าสู่เทศกาลวันหยุดยาวปลายเดือนนี้
นอกจากนี้กระแสเงินทุนต่างชาติมีทิศทางไหลออก โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงวันที่ 14 มี.ค. นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิสะสมราว 1.6 พันล้านเหรียญฯ ในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ขณะที่ ค่าเงิน Rupiah อ่อนค่าเทียบกับ USD อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย. 2567
บลจ.ไทยพาณิชย์ มองการปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ทำให้ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย มี Valuation ที่ค่อนข้างถูก โดย Forward P/E Band ของดัชนี JCI ลงไปต่ำกว่า 10-year Average-2SD แล้ว ทำให้อาจมีการฟื้นตัวทางเทคนิคระยะสั้นหลังจากมีแรงขายค่อนข้างมาก
“ประเมินว่า Upside การฟื้นตัวของตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ยังค่อนข้างจำกัด กดดันจากความกังวลข้างต้น ประกอบกับ การเติบโตของกำไรตลาดปีนี้ที่ไม่ได้โดดเด่นมากและความเสี่ยงของการถูกปรับลดประมาณการกำไรจาก Consensus”บลจ.ไทยพาณิชย์ ระบุ
ล่าสุด ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.75% โดยเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแอแต่ธนาคารกลางจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมค่าเงินรูเปียร์ที่อ่อนค่ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีผู้ว่าธนาคารกลางส่งสัญญาณว่ายังมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมครั้งถัดๆ ไป
พร้อมทั้งหน่วยงานกำกับของอินโดนีเซีย ผ่อนคลายเกณฑ์บจ.ซื้อหุ้นคืนโดยไม่ต้องประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 6 เดือน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด
ปัจจุบันกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นอินโดนีเซียโดยตรง ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นอินโดนีเซีย (ชนิดสะสมมูลค่า) หรือ SCBINDO(A) ,กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินโดนีเซีย อัลฟ่า ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (SCBIDALPHA), กองทุนเปิดอีสท์สปริง Indonesia Active Equity ( ES-INDONESIA) และกองทุนเปิดอีสท์สปริง Indonesia Active Equity เพื่อการเลี้ยงชีพ (ES-INDONESIA-RMF)
อ่านข่าว
ด่วน!! อินโดนีเซียผ่อนเกณฑ์บจ.ซื้อหุ้นคืน ไม่ต้องประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 6 เดือน