HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ส่องธุรกิจคลังสินค้าของไทยปี 68 แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปริมาณพื้นที่คลังสินค้าที่มีสัญญาเช่าคาดว่าเติบโต 9.3% แตะ 4.76 ล้านตารางเมตร ธุรกิจแข่งเข้มข้น ติดตามมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ ใกล้ชิด
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินธุรกิจคลังสินค้าของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยปริมาณพื้นที่คลังสินค้าที่มีสัญญาเช่าคาดว่าจะขยายตัวราว 9.3%YOY อยู่ที่ 4.76 ล้านตารางเมตร จากความต้องการใช้งานพื้นที่คลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภาคการผลิตที่กระจายฐานการผลิตมายังไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นหลัก อีกทั้ง ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้งานพื้นที่คลังสินค้าเพื่อรองรับการนำเข้าและส่งออกที่เติบโตได้ดี และความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยที่ฟื้นตัวและตลาด E-commerce ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
ขณะที่อุปทานพื้นที่คลังสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 7.5% YOY จากการลงทุนขยายพื้นที่คลังสินค้าอย่างต่อเนื่องของผู้ให้บริการคลังสินค้าทำให้อัตราการปล่อยเช่าพื้นที่คลังสินค้าต่อพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าทั้งหมดจะอยู่ที่ 88.0% เพิ่มขึ้นจาก 86.6% ในปี 2567
อย่างไรก็ดี แนวโน้มความต้องการพื้นที่คลังสินค้าที่มีทิศทางเติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้า จะส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจคลังสินค้าเข้มข้นมากยิ่งขึ้น จากการขยายพื้นที่คลังสินค้าของผู้ให้บริการรายเดิม และการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ ดังนั้น การนำเสนอบริการให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาดด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ เช่น ระบบจัดการสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายสินค้า รวมถึงเทคโนโลยี AI ที่ช่วยวิเคราะห์การวางแผนจัดเก็บสินค้า ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานบริการคลังสินค้าในระดับสากลจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและทำให้ผู้ให้บริการคลังสินค้าสามารถดึงดูดผู้เช่ารายใหม่ได้มากขึ้น
ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจคลังสินค้าต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีโอกาสส่งผลต่อแนวโน้มการกระจายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการพื้นที่คลังสินค้าในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญของธุรกิจคลังสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ รวมถึงการออกแบบและก่อสร้างอาคารคลังสินค้าแห่งใหม่โดยคำนึงถึงความยั่งยืน เช่น การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน และการนำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานมาใช้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเสริมความได้เปรียบในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการเติบโตได้ในระยะข้างหน้าเนื่องจากผู้เช่าคลังสินค้าเริ่มมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการคลังสินค้าที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถจำแนกได้้เป็น 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. ผู้ให้บริการที่อยู่ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ WHA, FPT และ WIN ซึ่งเน้นการให้บริการพื้นที่จัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าภายในคลังสินค้า โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม
2. ผู้ให้บริการในกลุ่มโลจิสติกส์ ได้แก่ SINO, SJWD, KWC, WICE, III, LEO และ MPJ ที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรทั้งการจัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าภายในคลัง รวมถึงบริการขนส่ง และบริการอื่น ๆ ด้วย เช่น การบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยคลังสินค้าของผู้ให้บริการทั้ง 2 กลุ่ม มีทั้งคลังสินค้าแบบ Ready-Built และคลังสินค้าแบบ Build-to-Suit ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการให้เช่าคลังสินค้าที่มาพร้อมกับบริการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการบริหารจัดการคลังสินค้า