HoonSmart.com >> LEO จับมือ Yunnan Xiaomaolv ตั้ง “บ.ลีโอ จี๋ทู่ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี” รุกธุรกิจให้เช่า-จำหน่าย Power Bank / EV Bike ผ่าน Application “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” มั่นใจสามารถต่อยอดธุรกิจ Non Freight หนุนรายได้สูงขึ้นตามแผนงานที่วางไว้ ดันผลงานปี68 โตก้าวกระโดด
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุน (Investment Cooperation Agreement) ระหว่าง บริษัท ลีโอ ชอร์สซิ่ง แอนด์ ซัพพลายเชน (LSSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ LEO กับ Yunnan Xiaomaolv Information Technology Co., Ltd. จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ” ลีโอ จี๋ทู่ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด”
สำหรับบริษัท ลีโอ จี๋ทู่ ฯ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท LSSC ลงทุน 2.55 ล้านบาท หรือ 51% ส่วน Yunnan Xiaomaolv Information Technology Co., Ltd. ลงทุน 2.45 ล้านบาท หรือ 49% เพื่อประกอบธุรกิจให้เช่า และจำหน่าย Power Bank โทรศัพท์มือถือ / รถจักรยานไฟฟ้า ผ่าน Application คาดว่าจะสามารถจะเริ่มดำเนินงานได้ภายในไตรมาส 2/ 2568
การลงนามในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายเหอ เจี่ยน ประธานกรรมการ และ นายพัน ไป๋หลิ่ง กรรมการผู้จัดการ Yunnan Xiaomaolv Information Technology Co., Ltd. ร่วมลงนาม
ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญของทั้งสองฝ่ายที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านการให้บริการในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน Yunnan Xiaomaolv เป็นบริษัทชั้นนำในประเทศจีน ดำเนินธุรกิจให้เช่าจักรยานไฟฟ้า (EV Bike) ผ่านแอปพลิเคชั่น มีจักรยานไฟฟ้าให้บริการเช่า รวมทั้งสิ้น 80,000 คัน ในเมืองทางตอนใต้ของประเทศจีน 28 แห่ง เช่น มณฑลเจ้อเจียง หูหนาน กวางโจว ฝูเจี้ยน ยูนนาน กวางสี อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีทีมพัฒนาเทคนิคระดับแนวหน้า ด้วยจุดแข็งที่มีความสามารถด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรมนี้ ทางบริษัทฯ สามารถนำมาขยายการให้บริการให้เช่า Power Bank ต่อในประเทศไทย คาดว่าจะตอบโจทย์ให้ลูกค้าชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ หมดกังวลเรื่องแบตเตอรี่มือถือหมดอีกต่อไป
“LEO มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่าง LSSC กับ Yunnan Xiaomaolv ในธุรกิจให้เช่าแบตเตอรี่สำรองหรือ Power Bank สำหรับโทรศัพท์มือถือในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดตลาดธุรกิจใหม่ที่เป็น Sharing Economy โดยเฉพาะลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัทฯ ที่เป็นกลุ่ม Millennials และ Generation Z ซึ่งมีการใช้งานสมาร์ทโฟนสูง และสนใจใช้ผลิตภัณฑ์ Sharing Economy เนื่องจากพวกเขามีการใช้งานสมาร์ทโฟนมาก และยินดีที่จะจ่ายค่าบริการเช่า power bank รวมทั้งลูกค้าหลักอีกกลุ่ม จะเป็นนักท่องเที่ยวจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ที่คุ้นเคยกับ Sharing Economy ของ Power Bank เป็นอย่างดี” นายเกตติวิทย์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มตลาด และโมเดลความสำเร็จให้เช่า Power Bank ตามผลวิจัยจาก xResearch ตลาดเช่า power bank ทั่วโลก คาดว่าจะมีมูลค่า 9,378.5 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปีพ.ศ. 2073 โดยอุตสาหกรรม Power Bank Rental (PBR) นี้ ประกอบด้วยบริษัทที่ให้บริการเช่าหรือให้ยืม power bank ในระยะเวลาต่าง ๆ เช่น รายชั่วโมง, รายวัน หรือแบบเช่าเพื่อเป็นเจ้าของ
จำนวนบริษัท PBR เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 และคาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 600 ล้านคน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากกลุ่ม Millennials ที่เป็นกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี ปี พ.ศ. 2523 – 2539 และ Generation Z ที่เป็นประชากรที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2552 ซึ่งมีความสนใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ Sharing Economy แทนการเป็นเจ้าของ ธุรกิจนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาด Sharing Economy ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนใหม่ๆ เช่น 5G และการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ความต้องการใช้บริการเช่า power bank เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับประเทศไทย จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 3 ปี 2567 จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชาชนอายุ 6 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ มีประมาณ 66.0 ล้านคน เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 59.2 ล้านคน (89.7%) และเป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 62.9 ล้านคน (95.2%) มีระยะเวลาการท่องโซเชียลสูงเป็นอันดับต้นๆ ทางบริษัทฯ เชื่อว่าคนไทยหลายคนอาจพบปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรีไม่เพียงพอและไม่ต้องการพกพาอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม
ทั้งนี้ บริษัท ลีโอ จี๋ทู่ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด จะเริ่มธุรกิจจากให้บริการเช่ายืม power bank โดยจัดทำเป็นตู้เช่า คิดค่าบริการรายชั่วโมง เมื่อใช้เสร็จสามารถนำมาคืนที่จุดบริการไหนก็ได้ ตอบโจทย์ผู้ใช้ที่ไม่สะดวกพกพาพาวเวอร์แบงค์ตลอดเวลา หรือไม่ต้องใช้เวลานานๆ ตามจุดบริการปลั๊กไฟสาธารณะที่ค่อนข้างหายาก ให้สามารถเช่าและชาร์จแบตโทรศัพท์ได้ทันที และสามารถพกพาไปกับการเดินทางได้ตลอดเวลา หมดกังวลแบตโทรศัพท์มือถือหมดระหว่างวัน โดยจะเปิดให้บริการด้วยสถานีเช่า power bank จำนวน 3,000 แห่งในกรุงเทพฯ ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 และมีแผนที่จะขยายไปถึง 10,000 แห่งภายในปลายปี 2568 โดยมีเป้าหมายที่จะขยายถึง 25,000 สถานีในปี 2569 และจะสามารถสร้างรายได้กว่าปีละ 100 ล้านบาท ภายในปี 2569
“ข้อได้เปรียบที่เรามี คือแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย ( User Friendly) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ของเราสามารถเช่า power bank ในสถานที่หนึ่งและคืนในอีกสถานที่หนึ่งได้ทั่วประเทศไทย ทำให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องพกพา power bank ส่วนตัว รวมถึงบริการให้เช่ารถจักรยานไฟฟ้าหรือ EV Bike ซึ่งเป็นแผนงานที่ทางบริษัทฯ จะให้บริการในอนาคต ในประเทศไทยมีโอกาสที่จะเติบโตสูง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีปัญหาจราจรและมลพิษสูง การที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเดินทางที่สะดวก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ” นายเกตติวิทย์ กล่าวในที่สุด