“BTS” มั่นใจผ่านจุดแย่สุดแล้ว ลั่นปี’67 สภาพคล่องล้น-กำไรดีขึ้น

HoonSmart.com>>บีทีเอส มั่นใจผ่านพ้นจุดแย่สุดแล้ว ผลจากรับรู้การด้อยค่าเงินลงทุนตัวหลักๆ ลั่นปี’67 สภาพคล่องแกร่ง ทยอยรับเงินชำหนี้ค่า E&M -O&M-เงินอุดหนุนสายสีชมพู-เหลือง รวม 7.5 หมื่นล้านบาท เตรียมนำไปลดหนี้สิน มั่นใจกำไรดีขึ้น

น.ส.ชวดี รุ่งเรือง ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) รายงานว่า ภายหลังจากการเสนองบประมาณของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์2567 สภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับการชำระหนี้ค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายที่ 2) จำนวน 23,400 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะได้รับการชำระหนี้ค่า E&M จำนวนประมาณ 23,000 ล้านบาท (เงินต้นและดอกเบี้ย) นี้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2567

จากการได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ ให้ดียิ่งขึ้น โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน 92,000 หมื่นล้านบาท เงินลงทุนที่มีสภาพคล่อง จำนวน 11,200 ล้านบาท และยังมีวงเงินพร้อมเบิกใช้จากสถาบันการเงินที่เพียงพอ

นอกจากนี้ ยังคาดว่า กทม.จะชำระหนี้ค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) จำนวนประมาณ 30,000 ล้านบาท ภายในปี2567/68 ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของเงินที่ได้รับจากการชำระคืนหนี้ค่า E&M และ O&M นั้นจะนำไปลดภาระหนี้สินของบริษัทฯ

ยิ่งไปกว่านั้น กระแสเงินสดของบริษัทฯ จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก จากการที่บริษัทฯ เริ่มได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐภายหลังจากการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการรถไฟสายสีชมพูและสายสีเหลือง โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ได้รับเงินอุดหนุนก้อนแรกจำนวนประมาณ 22,500 ล้านบาท จากการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะได้รับเงินอุดหนุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสายจำนวน 4,700 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องกันในอีก 9 ปีข้างหน้า

แม้ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะเผชิญกับความท้าทายนับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงปัจจุบัน ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบมาจากการบันทึกการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX และการลดลงของผลการดำเนินงานในบริษัทร่วมต่างๆ ที่บริษัทฯ ไม่มีอำนาจควบคุม

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าบริษัทฯ ได้ผ่านพ้นช่วงที่แย่ที่สุดไปแล้ว จากการรับรู้การด้อยค่าเงินลงทุนตัวหลักๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ จะมีทิศทางที่ดีขึ้น

อนึ่ง จากการบันทึกการด้อยค่าซึ่งเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสดที่ได้กล่าวข้างต้นนั้นได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำไรสะสม รวมไปถึงความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ โดยได้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลประกอบการตั้งแต่ 1 เมษายน 2566 ถึง 30 กันยายน 2566

อย่างไรก็ดีขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนสำหรับการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว และคาดว่าบริษัทฯ จะมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากทิศทางการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทฯ อาทิ การรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องจากการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไปจนถึงปี 2585 ตามสัญญา O&M ยิ่งไปกว่านั้น ยังคาดว่าส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน BTSGIF จะเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากจำนวนเที่ยวเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จากการฟื้นตัวของจำนวนเที่ยวเดินทางดังกล่าว ร่วมกับการปรับปรุงพื้นที่สื่อโฆษณาบนทำเลสำคัญ จะช่วยเพิ่มรายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาของวีจีไอให้กลับมาอยู่ในระดับก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ล่าสุดได้ทำการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของวีจีไอ โดยให้บริษัทฯ เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของวีจีไอที่ถือโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) คิดเป็น 29.66% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของวีจีไอ ภายหลังการทำธุรกรรมดังกล่าว บริษัทฯ จะถือหุ้นโดยตรงในวีจีไอเพิ่มขึ้นเป็น 60.97% เพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3M และเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

จากปัจจัยข้างต้นจะส่งผลให้แนวโน้มของผลการดำเนินงานและผลประกอบการทางการเงินของบริษัทฯ มีทิศทางที่ดียิ่งขึ้น

สำหรับ ผลการดำเนินงานประจำงวด 9 เดือนของปี 2566/67 บริษัทฯ บันทึกรายได้รวมสำหรับรอบระยะเวลา 9 เดือนของปี2566/67 จำนวน 19,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% หรือ 1,862 ล้านบาท จากปีก่อน ปัจจัยหลักมาจาก (1) รายได้ดอกเบี้ยรับที่เพิ่มขึ้น 919 ล้านบาท (2) การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการบริการและการขาย 500 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจบริการดิจิทัล ภายใต้ธุรกิจ MIX และการรับรู้รายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นครั้งแรก ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ภายใต้ธุรกิจ MOVE และ (3) การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการรับเหมา 453 ล้านบาท จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง