“SCC” แผน 6 ปี มุ่ง “นวัตกรรมกรีน” ปักธงผู้นำอาเซียน ปั๊มยอดขาย 67%

HoonSmart.com>>  “ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” ซีอีโอ SCC เปิดแผนธุรกิจ 6 ปี เพิ่มยอดขายนวัตกรรมกรีนแตะ 67% ผลิตพลาสติกชีวภาพ 1 ล้านตัน ขึ้นแทนผู้นำมาตรฐานกรีนในอาเซียน ด้วยแนวคิด ‘Passion for Inclusive Green” ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ องค์กรคล่องตัว นวัตกรรมกรีน องค์กรแห่งโอกาส ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เปิดพื้นที่ปล่อยแสงให้คนรุ่นใหม่-รุ่นเก่าหัวใจยังหนุ่ม ร่วมสร้างโซลูชั่นตอบโจทย์ลูกค้ารวมเร็วหลากหลาย

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจในยุคโลกเดือด ว่า เชื่อว่าจะมีเซอร์ไพรส์ด้านลบจากภูมิรัฐศาสตร์ หรือ geopolitics ออกมากระทบเศรษฐกิจทุกๆ ปี ทั้งเรื่องของโลกร้อน กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตผู้คน และต่อการค้า การลงทุน ทำให้ทุกประเทศมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

“เราจึงมองการทำธุรกิจในระยะยาว ๆ เลย เพราะอยากทำให้เอสซีจี อยู่ต่อไปได้อีก 50-100 ปี ข้างหน้า จากที่อยู่มาได้ 111 ปี ในยุคผมจึงต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ธุรกิจมีทิศทางสอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก สามารถช่วยกู้โลกเดือดได้ และสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้า บริการ โซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่องค์กรยังมีกำไร ได้ทั้งชื่อ และกล่อง” นายธรรมศักดิ์ กล่าว

 

นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า จากโจทย์ข้างต้นจึงเป็นที่มาของแผนการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมาย “สร้างสังคม Net Zero ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมกรีน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยงบลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท ในทุกๆ ธุรกิจรวมๆ กันอยู่ในวงเงินก้อนนี้ซึ่งไม่ขอเปิดเผยสัดส่วนในตอนนี้ กับ แนวคิด ‘Passion for Inclusive Green Growth’ ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ประกอบด้วย

องค์กรคล่องตัว ยืดหยุ่น (Agile Organization)

ทรานส์ฟอร์มโครงสร้าง สร้างความคล่องตัว ดันธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง ที่ปรับมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการแยกหลายธุรกิจออกไป มอบอำนาจในการดำเนินงานให้ เพื่อขยายขีดความสามารถของแต่ละธุรกิจให้พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างทันท่วงที และสามารถฝ่าความผันผวนของสถานการณ์โลกไปได้ ประกอบด้วย
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูซัน ทำ ธุรกิจวัสดุและโซลูชันก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ทำธุรกิจนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง และโซลูชั่นเพื่อการอยู่อาศัยที่ดีกว่า, เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล ทำธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัยระดับอาเซียน, เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ครบวงจรระดับภูมิภาคไปแล้ว ซึ่งมุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืน, เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ทำธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรที่กำลังขยายไปในอาเซียน

ก่อนหน้านี้ได้ผลักดันธุรกิจในเอสซีจีที่มีศักยภาพสูง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปแล้วอย่าง บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ผู้นำบรจจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน บริษัทเอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดีโลจิสติกส์ (SCGJWD) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนครบวงจรรายใหญ่สุดในอาเชียน เพราะมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจเร็วมาก และ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) ผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรระดับอาเซียน

ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้หลักมาจากธุรกิจเคมิคอลส์ประมาณ 40% ซึ่งปักหมุดไปที่กรีนโพลิเมอร์ ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ประมาณ 30% ปักหมุดที่ซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ประมาณ 20-30% ซึ่งโครงสร้างเป็นแบบนี้มานานแล้ว ซึ่งคงจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกนาน สิ่งที่ต้องทำคือ จะต้องเปลี่ยนธุรกิจเหล่านี้ให้เป็นกรีนให้หมด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อจะได้เติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นยังมุ่งสร้างการเติบโตด้วยการลงทุน (Investment & Holding) รวมทั้ง เทคโนโลยีขั้นสูงและดิจิทัล (Deep Technology & Digital) ที่ทำงานร่วมกับองค์กรนอกทั่วโลกด้วย นอกเหนือจากที่พัฒนาเองภายใน

นวัตกรรมกรีน (Green Innovations)
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า จะมีการเร่งพัฒนานวัตกรรม โชลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่ต้องการสูงของตลาดโลก ให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสังคม Net Zero โดยวางงบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ไว้ปีละ 1% ในงบลงทุน ปี 2566 ที่ผ่านมาใช้ไป 0.7% เช่น นวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูซันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ช้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร พร้อมขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระดับโลกเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน อาทิ “Norner AS” ศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสติก ประเทศนอร์เวย์ และ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ โดยตั้งเป้ารายได้จากนวัตกรรมรักษ์โลก SCG Green Choice 67% จากยอดขายทั้งหมดในปี 2573 จากปี 2566 อยู่ที่ 54% พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 (Net Zero 2050) ปัจจุบันคืบหน้าตามแผน

ปีนี้ จะออกปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เจน 2  ตั้งเป้ายอดขายให้ได้ 20% ของยอดขายปูนทั้งหมด จากปีที่ผ่านมาออกเจน 1 มีสัดส่วนยอดขาย 70% ของยอดขายรวม โดยจะยังขายต่อไป และมีแผนจะออกเจน 3 ที่สามารถลดคาร์บอนได้ 30-40% ตามมาตรฐานโลก ในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนกำไรของปูนคาร์บอนต่ำเจน 1 ขึ้นอยู่กับราคาถ่านหิน และการส่งออก ถ้าส่งออกได้มากจะทำให้ต้นทุนรวมลดลง และจะมีมาร์จินประมาณ 3-5%

สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ ตั้งเป้าหมายผลิตพลาสติกชีวภาพ (green polymer) ให้ได้ 1 ล้านตันในปี 2573 ซึ่งจะมีการใช้พลังงานสะอาดในธุรกิจเคมีภัณฑ์ ที่สหรัฐอเมริกาใช้พลังงานนิวเคลียร์ ในการผลิตเพื่อลดคาร์บอน แต่ในไทยทำไม่ได้ จึงต้องหาจุดแข็งของไทยที่เป็นเมืองกสิกรรม เกษตรกรรม มีแดด น้ำ ลม ตลอดปี การทำให้เกิด Net Zero จึงได้เลือกใช้พลังงานจากพืชในการผลิตพลาสติก กระบวนการนี้ก่อให้เกิดคาร์บอนติดลบ รวมถึงการใช้พลาสติกรีไซเคิล ที่ได้เข้าไปซื้อบริษัทที่โปรตุเกส ซึ่งจะใช้ในการขยายธุรกิจนี้ต่อไปในยุโรป เพราะตลาดกำลังไปได้ดี อัตราการเติบโตของรีไซเคิลพลาสติกสูงกว่าพลาสติกใหม่ถึง 2 เท่า และทำเคมิคัลรีไซเคิล ที่ระยองเป็นโรงงานต้นแบบ ที่เดินหน้าได้ด้วยดี

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เป็นธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ green growth ได้ง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับธุรกิจซีเมนต์ และเคมิคัล จะเปลี่ยนผ่านได้ยากกว่า โดยมีการปลูกป่ายูคาลิปตัส ทำให้สามารถดูดซับคาร์บอนได้ และได้สิทธิการลดคาร์บอนได้ด้วย สามารถเติบโตได้ระยะยาว ครอบคลุมต้นน้ำที่มีการปลูกป่า และกลางน้ำที่เก็บรีไซเคิลมาใช้ต่อ ครบวงจร

ด้านธุรกิจพลังงานสะอาด ปีที่แล้วเอสซีจี เราทำได้ 500 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้ที่ 3,000 เมกะวัตต์ (MW) ในอีก 4 ปีข้างหน้า ถือว่าเข้ามาช้าหรือไม่ ก็อยากให้เห็นภาพรวมของไทยในปี 2566 มีพลังงานสะอาดประมาณ 17-18% หรือต่ำกว่า 20% ถ้าประเทศไทยจะไปให้ถึง Net Zero จะต้องขึ้นถึง 100% ปัญหาที่ต่ำเพราะไม่สามารถติดโซล่าร์เซลบนหลังคาได้ เพราะขาดสมาร์ทกริด ซึ่งได้เสนอรัฐบาลไปเมื่อปีที่แล้วให้ติดสมาร์ทกริด จะทำให้สามารถติดโซลาร์เซลบนหลังคาได้เพิ่ม การลงทุนในสายส่งไฟจะเกิดความคุ้มค่า เชื่อว่าประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จะต้องมีสมาร์ทกริด จึงจะไปได้ และพลังงานสะอาดเป็นโอกาสในการเติบโตสูงทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะไทย

ทั้งนี้ จะมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวในอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำได้ เพราะการที่มีการลงทุนทั้งในเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในไทย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ดีขึ้น ผลักดันมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวได้มากขึ้น

องค์กรแห่งโอกาส สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ (Organization of Possibities)

ธุรกิจจะเติบโตไปตามแผน สิ่งสำคัญคือคน จะพยายามทำให้คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นก่อนที่หัวใจยังหนุ่มสาว ปล่อยแสงได้เต็มที่ ปล่อยพลังงานได้เต็มที่ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานปล่อยสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านโครงการสตาร์ทอัพในเอสซีจี อาทิ
พัฒนาแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ‘Pompt Plus’ ที่เป็นแบบบีทูบี หรือ ธุรกิจกับธุรกิจ ยกระดับการบริหารจัดการต้นทุและสต๊อกสินค้าให้แก่ร้านค้ารายย่อยกว่า 10,000 รายในเครือข่ายเอสซีจี


มีการบ่มเพาะสตาร์ทอัพในโครงการ ZERO TO ONE by SCG สร้างโอกาสให้พนักงานก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนนอกบริษัทด้วย ปั้นธุรกิจยภาพสูง เช่น ‘Dezpax.com’ แพลตฟอร์มออนไลน์แพคเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย
สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ฟู้ดเวอรี่ และคาเฟ่ ในการสร้างแพคเกจจิ้งเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในจำนวนน้อย ราคาเหมาะสมกับ SMEs ซึ่งเติบโตกว่า 300% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับจากผู้ประกอบการกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ
‘Urbanice’ แพลตฟอร์มสื่อสาร บริหารจัดการ สำหรับชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียมและหมู่บ้าน เพื่อการอยู่อาศัยแบบสมาร์ท สะดวก และมีความสุข มีผู้ใช้งานกว่า 250,000 คน ใน 850 โครงการทั่วประเทศ
สนับสนุนให้พนักงานพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ตอบเทรนด์อนาคต ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนภายนอกเอสซีจี เช่น ‘NocNoc’ ศูนย์รวมสินค้าและบริการเรื่องบ้านออนไลน์ ที่กำลังขยายธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียน มีมูลค่าสูงถึง 5,000 ล้านบาทแล้ว

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Society)
การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ Net Zero บอกได้เลยว่าไม่ง่าย เป็นพันธะสัญญาที่จะต้องทำต่อเนื่องให้บรรลุผลในอีก 10 ปี 20 ปี อย่าง เอสซีจี ที่เป็นองค์กรใหญ่ มีสายป่านที่จะลงทุน มีสายป่านที่จะไปจ้างคนเก่งๆ รอบโลก นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา มีสายป่านที่จะไปทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ซื้อธุรกิจใหม่ๆ ได้ แต่เอสเอ็มอี ที่มีทุนน้อยยากมากเลย หากมีแต่บริษัทใหญ่ที่ทำสำเร็จ แต่เอสเอ็มอีไม่รอด เศรษฐกิจก็ไม่ยั่งยืน จึงต้องชวนทุกคนในห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) ร่วมเปลี่ยนผ่านสู่สังคม คาร์บอนต่ำไปพร้อมกัน เพื่อให้สังคมทั้งคู่ค้า ลูกค้า ไปด้วยกันได้ สังคมจึงจะเข้มแข็ง

ทำให้เกิดการผลักดัน ‘สระบุรีแชนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย’ เพื่อเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จ ข้อจำกัดในการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริม การเกษตรคาร์บอนต่ำเช่น การทำนาเปียกสลับแห้งและการปลูกพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน สร้างเครือข่าย ‘Big Brothers for SMEs’ ใน จ.สระบุรี เพื่อส่งต่อความรู้ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งด้านพลังงานสะอาดนวัตกรรมรักษ์โลก การหาแหล่งเงินทุน พัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ 50,000 คน ในปี 2573 ยกระดับแรงงานไทย มีอาชีพมั่นคง ลดเหลื่อมล้ำ เช่น ช่างติดตั้งและทำความสะอาดหลังคาโซลาร์ นักเขียนแบบโดยใช้โปรแกรม BIM (Building Information Modelling) รวมทั้งจับมือกับซุมชนดูแลระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ’ ผ่านโครงการรักษ์ภูผามหานที่ มุ่งสู่เป้าหมายปลูกต้นไม้ 1.5 ล้านไร่ในปี 2593 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งต่อความยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป