HoonSmart.com>>กรุงศรี ฟินโนเวต เดินหน้าดันสตาร์ตอัปโตต่อในระดับภูมิภาคอาเซียนอย่างแข็งแกร่ง เปิดพอร์ตลงทุนใน 25 บริษัท วงเงินรวม 4,039 ล้านบาท อยู่ในกลุ่มยูนิคอร์น 4 บริษัท เตรียม IPO 7 แห่ง พร้อมตั้งกองทุนฟินโนอีฟราฯ ขนาด 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้ากำไร 25% หนุนธุรกิจแห่งโลกใหม่ขยายตลาดทั่วอาเซียน
น.ส.ปาลิดา อธิศพงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ และ Head of Portfolio Growth บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือกรุงศรี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กรุงศรี ฟินโนเวต มีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ต 25 บริษัท รวม 4,039 ล้านบาท หรือราว 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึง 4 ยูนิคอร์น ได้แก่ Grab, Flash Express, Klook และ Ascend Money และมี 7 สตาร์ตอัปที่อยู่ในระหว่างการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)
“7 สตาร์ตอัปที่จะ IPO อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เช่น เตรียมไฟลิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะแต่ละแห่งมีขนาดธุรกิจ และความพร้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งทางกรุงศรี ฟินโนเวต พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่”น.ส.ปาลิดา กล่าว
ด้านกองทุนฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ (Finnoventure Private Equity Trust I)ที่มีขนาดกองทุน 2,700 ล้านบาท ลงทุนในสตาร์ตอัป Series A ขึ้นไปนั้น ลงทุนไปแล้ว 1,731 ล้านบาท ใน 15 บริษัท และในปี 2568 มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีก 6 บริษัท วงเงิน 400 ล้านบาท ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ขณะที่ กองทุนฟินโนเวิร์ส และฟิวเจอร์ริสติก มียอดการลงทุนไปแล้ว 475 ล้านบาท ในปี 2568 มีแผนที่จะลงทุนอีก 70 ล้านบาท ในเทคโนโลยีที่เป็นระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ และกรีนเทคโนโลยี
“สตาร์ตอัปในพอร์ตลงทุน มีผลการดำเนินงานน่าพอใจมาก และมองว่าโอกาสการลงทุนปีนี้มีแนวโน้มที่ดี เพราะมีสตาร์ทอัปที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงภาครัฐยังให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี”น.ส.ปาลิดา กล่าว
น.ส.ปาลิดา กล่าว กล่าวว่า ปี 2568 บริษัทฯ ได้ตั้งกองทุนใหม่ ชื่อ กองทุนฟินโนอีฟรา ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ (FinnoEfra Private Equity Trust) ขนาดกองทุน 1,000 ล้านบาท อายุ 8 ปี เน้นลงทุนในสตาร์ตอัปกลุ่ม Seed ถึง Pre-series A โดยในกลุ่ม Seed นี้จะต้อง มีสินค้าออกมาแล้ว มีรายได้แล้ว เน้นลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายที่สามารถ disrupt ตลาดได้ โดย 60% จะลงทุนในไทย และอีก 40% อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตั้งเป้าหมายกำไรไว้ประมาณปีละ 25% โดย 4 ปีแรกจะเป็นปีของการลงทุน และปีที่ 5-8 จะเป็นช่วงการลงทุนใหม่
“เราวางงบลงทุนปีนี้ไว้ 50 ล้านบาท แน่นอนจะพิจารณาลงทุนใน 12 ทีมที่อยู่ใน Finno Efra Accelerator Program ก่อน ซึ่งหลายทีมมีกำไรแล้ว โดยจะมีการวิเคราะห์ และประเมินศักยภาพธุรกิจ ว่าตรงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ไหม และยังมีสตาร์ตอัปอื่นอีกที่อยู่ลิสต์ “น.ส.ปาลิดา กล่าว
น.ส.ปาลิดา กล่าวว่า จากการที่กรุงศรี ฟินโนเวต เห็นถึงโอกาสที่ดีในการลงทุนในสตาร์ตอัปช่วง Eerly Stage จึงได้เปิดโครงการ ฟินโน อีฟรา แอ็กเซอเลอเรเตอร์ โปรแกรม (Finno Efra Accelerator Program) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรุงศรี ฟินโนเวต กับ อีฟราสตรัคเจอร์ เพื่อเสริมศักยภาพให้กับสตาร์ตอัปในช่วงแรกเริ่ม Eerly Stage ให้เติบโตสู่ระดับ Growth Stage
นับว่าเป็นโรงเรียนบ่มเพาะสตาร์ทอัปไทย ที่ให้ความรู้ทั้ง เรื่องการทำตลาด การระดมทุน กฎหมาย ถ่ายทอดกลยุทธ์ และแนวทางในการทำธุรกิจ ให้คำปรึกษาในทุกด้าน ตลอดช่วง 4 เดือน กว่า 30 คลาส จาก 4 ครูใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จและ exit ธุรกิจแล้ว รวมถึง 24 mentors ที่เป็นกูรูในระบบนิเวศของสตาร์ตอัป Startup และ 120 โค้ชผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าของเมืองไทย ซึ่งใน Batch 1 มีสตาร์ตอัป 12 ทีม ที่ทำเทคโนโลยีเอไอ เฮลท์เทค การตลาด แพลตฟอร์มธุรกิจต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด จากราว 200 สตาร์ตอัปที่สมัครเข้าร่วม
วันที่ 11 มี.ค.2568 มีการจัดงาน Demo Day ต่อหน้าคณะกรรมการ บริษัท นักลงทุน เปิดโอกาสให้เกิดการต่อยอดการลงทุน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการสตาร์ทอัป เนื่องจากห่างหายไปนาน และนี่คืออีกความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างธุรกิจได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน และปลายปีนี้จะมองหาสตาร์ทอัปเข้ามาร่วมกิจกรรม Finno Efra Accelerator Program ซึ่งเน้นกลุ่มที่อยู่ในระดับที่มีสินค้าออกมาแล้ว และทำตลาดแล้ว อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการหาเงินทุนในการขยายธุรกิจ
น.ส.ปาลิดา กล่าวว่า บริษัทฯยังคงมุ่งผลักดัน Startup Ecosystem ทั้งในไทยและในภูมิภาคอาเซียนให้เติบโตในทุกช่วงอย่างแข็งแกร่ง ในปีนี้ จะให้น้ำหนักการลงทุนในสตาร์ตอัปอาเซียนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ ในส่วนของความร่วมมือ (Partnerships) จะได้เห็นความร่วมมือในต่างประเทศมากขึ้น โดยมี 30 โครงการที่จะทำร่วมกัน และจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นด้วย จึงนับได้ว่าเป็นการขยายศักยภาพและความเชี่ยวชาญของกรุงศรี ฟินโนเวต ออกไปในระดับภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อปูทางสู่เป้าหมายสำคัญในการเป็น Venture Capital ระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารกรุงศรี
สำหรับ ปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้สร้างโอกาสทางธุรกิจแก่สตาร์ตอัปที่มีศักยภาพผ่านการสร้างสรรค์อีโคซิสเต็มที่เหมาะสมต่อการเติบโตและขยายโอกาสทางธุรกิจ ไม่เพียงแค่ในด้านฟินเทค แต่ยังรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน ด้วยเห็นถึงพลวัตเศรษฐกิจที่การบูรณาการอย่างเหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทั้งในระดับธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม
ในส่วนของความร่วมมือ (Partnerships)ปีที่ผ่านมามีการทำงานกับสตาร์อัป 89 แห่งที่มีความหลากหลายเทคโนโลยี และพันธมิตทางธุรกิจทั้งธนาคารกรุงศรี พันธมิตรของธนาคาร ลูกค้าธนาคาร 57 พันธมิตร รวม 170 โครงการ
12 สตาร์ตอัปไทยพร้อมลุยอาเซียน
สำหรับ 12 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกได้แก่ 1. AIYA ทำเทคฯด้านการตลาด(MarTech)ด้วยการเก็บข้อมูลจำนวนลูกค้าที่เข้าร้าน ให้กับร้านค้าต่างๆ และเก็บข้อมูลให้กับแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า นำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ต้องการระดมทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อขยายธุรกิจ
2.Daywork แพล็ตฟอร์มช่วยสรรหาพนักงานชั่วคราว (HRTech) 3.Gowajee ทำเทคฯเอไอ (AI) แพลตฟอร์ม AI วิเคราะห์การสนทนาให้ทีม contact center ทั้งแบบเรียลไทม์และหลังการโทร
4. Graffity (DeepTech)ใช้เอไอสร้างแผนที่ ออกแบบ 3 มิติ และระบุพื้นที่ ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กรในหลากธุรกิจใช้บริการ ทั้งห้างสรรพสินค้า หน่วยงานรัฐ อสังหาริมทรัพย์ โรงงาน ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์และในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยี AR มาใช้ในธุรกิจกีฬา ต้องการระดมทุนในรอบนี้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5.JobsLab ทำเทคฯด้านการสรรหาบุคลากรชั่วคราว (HRTech) มีฐานอยู่ที่ฮ่องกง และ ไทย ปี 2568 ตั้งเป้ารายได้ 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำไรก่อนหักภาษีที่ 0.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องการระดมทุนในระยะ Seed Round 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
6.MUl-Robotics(DeepTech / Sensory AI)แพลตฟอร์มประสาทประดิษฐ์ที่ทำให้ AI และหุ่นยนต์มีประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง เช่นเดียวกับมนุษย์ โดยปี 2567 มีรายได้ 605 พันเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 3 เท่าจากปี 2566 และใน 2 เดือนแรกปี 2568 มีรายได้ใหม่เข้ามาแล้ว 330 พันเหรียญสหรัฐฯ กำไรเพิ่มขึ้น 18% โดยต้องการระดมทุน 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
7.Osseolabs ทำเฮลท์เทคฯและเทคฯด้านการรักษา(HealthTech/ MedTech) พัฒนาระบบวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลและกระดูกเทีย ปี 2568 ตั้งเป้าหมายรายได้ 600 พันเหรียญสหรัฐฯ จากปีที่ผ่านมา 16 พันเหรียญสหรัฐฯ โดยจะมีการขยายตลาดไปยังเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ต้องการระดมทุน 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
8.PAM Real CDP ทำเทคฯด้านการตลาด(MarTech)ใช้เอไอในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดเคมเปญกับลูกค้าได้ตรงเป้าหมาย ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กรในหลากธุรกิจใช้บริการแล้ว อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาหาร ประกัน น้ำมัน สถาบันการเงิน ทำ ปี 2567 ที่ผ่านมารายได้ 350 พันเหรียญสหรัฐ เติบโต 7 เท่านับจากต้นปี และคาดว่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 จะมีรายได้ 400 พันเหรียญสหรัฐ และมีกำไร 80 พันเหรียญสหรัฐ
9.Spacely AI (PropTech) แพลตฟอร์มการออกแบบสถาปัตยกรรมด้วย AI และ Algorithm สำหรับสถาปนิกทั่วโลก
10. ThaiHand ทำเทคฯด้านการดูแลสุขภาพ (WellnessTech)ให้บริการแอพพลิเคชั่นจองบริการให้กับธุรกิจสปา โดยมองว่าจากมูลค่าธุรกิจสปาในไทยมีขนาดใหญ่ถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่งในรอบ 13 เดือนที่ผ่านมามีธุรกิจสปาใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวแล้ว 224 แห่ง สิ้นปี 2567 มีรายได้ 3.03 แสนเหรียญสหรัฐ และปี 2568 ตั้งเป้าหมายจะมีธุรกิจสปามาใช้บริการ 1,000 แห่ง ต้องการระดมทุน 7.5 แสนเหรียญสหรัฐฯ เพื่อขยายธุรกิจไปต่างประเทศ อาทิ ในเวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ที่ตลาดมีขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 2 เท่า
11.Vansales เท็คฯด้านการตลาด (RetailTech) ให้บริการแอพพลิเคชั่นบนมือถือช่วยประมวลผลสต็อกสินค้าคงเหลือ เพื่อให้การบริหารงานขายได้เร็ว ถูกต้องมากขึ้น 12.Wang ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลจำนวนมากในรูปของ Crowdsourcing (AI/ DataTerch)
สำหรับ ทีมที่ได้รับรางวัลจะมีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ได้แก่ Viva Technology (ปารีส, ฝรั่งเศส) InnoVEX (ไทเป, ไต้หวัน) และ NextRise (โซล, เกาหลีใต้)
ทั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีม Spacely AI แพลตฟอร์มการออกแบบสถาปัตยกรรมด้วย AI และ Algorithm สำหรับสถาปนิกทั่วโลก โดยได้รับโอกาสเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในงาน “VIVA Technology 2025 ” ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
รางวัลพิเศษอีก 2 รางวัล ได้แก่ทีม MUI-Robotics แพลตฟอร์มประสาทประดิษฐ์ (Artificial Senses Platform) ที่ทำให้ AI และหุ่นยนต์มีประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง เช่นเดียวกับมนุษย์ โดยได้รับโอกาสเดินทางไปร่วมงาน “InnoVEX” ณ ไทเป ไต้หวัน
และทีม Osseolabs ที่พัฒนาระบบวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลและกระดูกเทียมเฉพาะบุคคล สำหรับศัลยกรรมกระดูกและใบหน้า ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติและ AI พร้อมโอกาสเข้าร่วมงาน “NextRise” ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
รายงานโดย วารุณี อินวันนา