“ไพรเวทฟันด์” ปี 66 โต 10.36% ดันมูลค่าแตะ 2.17 ล้านล้านบาท

HoonSmart.com>> “กองทุนส่วนบุคคล” (Private Fund) ปี 66 มูลค่าสินทรัพย์แตะ 2.17 ล้านล้านบาท เติบโต 2.04 แสนล้านบาท หรือกว่า 10.36% จากปี 65 เงินลูกค้าสถาบันหนุน ขณะที่เดือนธ.ค.พบปิด 26 กองทุน มูลค่าลดลง 4.7 พันล้านบาท คาดนักลงทุนรายบุคคล โยกเงินกลับตั้งหลักเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เผยภาพรวมธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ปี 2566 มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมทั้งสิ้น 2,170,065.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 203,736.76 ล้านบาท หรือ 10.36% จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 1,966,328.61 ล้านบาท จากจำนวน 23 บริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคม AIMC ขณะที่จำนวนกองทุน 4,256 กอง เพิ่มขึ้น 80 กอง จากปี 2565 มีจำนวน 4,176 กอง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบจากเดือนพ.ย.2565 มูลค่าสินทรัพย์กองทุนลดลง 4,772.82 ล้านบาท หรือ -0.22% และจำนวนกองทุนลดลง 26 กอง

สำหรับ 5 อันดับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีมูลค่าสินทรัพย์เติบโตสูงสุด เมื่อพิจารณาจากจำนวนเงิน ได้แก่ บลจ.ไทยพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 111,874.64 ล้านบาท หรือ 20.88% มาอยู่ที่ 647,782 ล้านบาท อันดับสอง บลจ.วรรณ เพิ่มขึ้น 19,132.29 ล้านบาท หรือ 43.74% เป็นมูลค่า 62,878 ล้านบาท อันดับสาม บลจ.กรุงไทย เพิ่มขึ้น 17,796.89 ล้านบาท หรือ 39.38% อยู่ที่ 62,986 ล้านบาท อันดับสี่ บลจ.ทาลิส เพิ่มขึ้น 12,663.13 ล้านบาท หรือ 42.09% อยู๋ที่ 42,784.95 ล้านบาทและอันดับห้า บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เพิ่มขึ้น 10,980.89 ล้านบาท หรือ 24.45% อยู่ที่ 55,894.76 ล้านบาท

ขณะที่มีบลจ.เพียง 4 แห่งที่มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารลดลง ได้แก่ บลจ.บางกอก แคปปิตอล ลดลง 2,599.35 ล้านบาท หรือ -12.84% รองลงมาบลจ.เอ็กซ์สปริง ลดลง 2,344.66 ล้านบาท หรือ -25.38% บลจ.กสิกรไทย ลดลง 1,460.02 ล้านบาท หรือ -0.77% และบลจ.เกียรตินาคินภัทร ลดลง 410.33 ล้านบาท หรือ -1.95%

ด้านบลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย) ยังครองส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวม 729,533.38 ล้านบาท สัดส่วน 33.62% จากการบริหารจัดการสินทรัพย์ของเอไอเอ ประเทศไทยและบริหารจัดการเงินลงทุนในกองทุนรวมจากกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิต ลิงค์) ของเอไอเอ ประเทศไทย

รองลงมาบลจ.ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าสินทรัพย์ 647,782.93 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 29.85% อันดับสาม บลจ.กสิกรไทย 186,985.28 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 8.62% อันดับ 4 บลจ.กรุงศรี 118,279.24 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 5.45% และอันดับ 5 บลจ.ทิสโก้ 74,839.44 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 3.45%

ผู้บริหารบลจ. กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่จะมาจากเงินลงทุนของลูกค้าสถาบันทั้งภาครัฐ เช่น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กองทุนบำเหน็จบำนาฐข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม รวมถึงภาคเอกชน บริษัทประกัน มหาวิทยาลัย สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น หากปีไหนที่มีการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนหรือว่าจ้างบลจ.บริหารจัดการเงินให้ ก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตมาก ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมากองทุนส่วนบุคคลเติบโตตั้งแต่ไตรมาสแรกคาดว่าจากเม็ดเงินของภาครัฐที่ว่าจ้างบลจ.หลายแห่งบริหารจัดการเงินหลายหมื่นล้านบาท นอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตราสารหรือหลักทรัพย์ที่กองทุนเข้าไปลงทุน ในส่วนของบริษัทเอกชนที่มีสภาพคล่องเหลือก็สนใจให้บลจ.บริหารเงินให้เช่นกัน

สำหรับประเด็นการเก็บภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้เกิดขึ้นในต่างประเทศกลับเข้าไทย ที่เริ่มมีผลบังใช้ 1 ม.ค.2567 จากเดิมรายได้หรือเงินลงทุนปีใดหากเอาเข้ามาข้ามปีที่ก่อให้เกิดเงินได้ก็ไม่ต้องนำมารวมเสียภาษีในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าไม่น่ากระทบอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะปัจจุบันบุคคลธรรมดาที่ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลไม่ได้มากและในทางกลับกันมองว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจกองทุนรวม จากเดิมที่นักลงทุนอาจมีการลงทุนตรงในต่างประเทศก็โยกกลับมาลงทุนผ่านกองทุนรวมในไทยแทน

“กรณีบลจ.ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทหลักทรัพย์อาจมีลูกค้ามาใช้บริการกองทนุส่วนบุคคลกับบลจ. ก็อาจเห็นเงินลงทุนโยกกลับมาบ้างในปีก่อน อาจนำมาจัดพอร์ตของลงทุนของตัวเองใหม่ หลังมีประเด็นเรื่องภาษี แต่ไม่ได้เป็นเม็ดเงินที่มากนักเมื่อทียบทั้งอุตสาหกรรม”ผู้บริหารบลจ. กล่าว

ก่อนหน้านี้นายอิศรา พุฒตาลศรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ดาโอ เปิดเผยว่า จากประเด็นที่กรมสรรพากรออกประกาศเก็บภาษีเงินได้ของเงินลงทุนต่างประเทศที่กลับเข้าไทยในวันที่ 1 ม.ค.2567 กระทบกองทุนส่วนบุคคลภายใต้การบริหารของบริษัทอยู่บ้าง ทำให้ให้นักลงทุนโยกเงินกลับมาลงทุนในกองทุนรวมที่บริษัทตั้งขึ้นมา เพื่อรองรับลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลที่ยังคงชอบสไตล์การบริหารและผลตอบแทนที่บริหารให้ในช่วงที่ผ่านมา