THAI เร่งกำไรโต มาร์จิ้นติดท็อปโลก 22% จับมือ BA ลุยศูนย์ซ่อมเครื่องบินอู่ตะเภา

HoonSmart.om>>”การบินไทย” (THAI) โชว์กำไรดำเนินงาน 41,515 ล้านบาท โตต่อเนื่อง 3.2% อัตรากำไรสูงถึง 22% ชูกลยุทธ์เดินทางถูกทาง แข่งขันได้ดี  ปี 68 กำไรทะยานต่อ คาด 3 ปีแข่งขันไม่มาก ลดพาร์เหลือ 1.30 บาท ล้างขาดทุน สิ้นมี.ค.พลิกเป็นบวก ประชุมผู้ถือหุ้น 18 เม.ย.นี้ตั้งบอร์ด ใหม่ ออกจากแผนฟื้นฟู คาดหุ้นกลับเข้าซื้อขายมิ.ย.นี้ ส่วนหนี้ 8.7 หมื่นล้านบาท ทยอยคืนยาวถึงปี 79  ได้เครดิตปิดความเสี่ยง  จับมือ “การบินกรุงเทพ”(BA) ร่วมทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา

 

บริษัทการบินไทย  (THAI) เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 2567 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เท่ากับ 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากปี 2566 ที่ทำได้จำนวน 161,067 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เท่ากับ 41,515 ล้านบาท เติบโต 3.2% จาก 40,211 ล้านบาทในปี 2566 มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) (EBIT Margin) อยู่ที่ 22.1% ซึ่งดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ติดอันดับต้นๆของอุตสาหกรรมการบิน

อย่างไรก็ตาม บริษัทการบินไทยมีผลขาดทุน 26,901 ล้านบาท เกิดจากมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 18,781 ล้านบาท ผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 45,271 ล้านบาท ที่บริษัทฯ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงเดือนพ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยผลขาดทุนทางบัญชีส่วนใหญ่ประมาณ 40,582 ล้านบาท เกิดจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ราคา 2.5452 บาท ตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม และส่วนที่เหลือมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้ที่เร็วกว่ากำหนด  ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ และไม่ได้ส่งผลต่อการออกจากการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้น ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นบวก

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากการดำเนินงาน หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน (EBITDA – Aircraft Cash Lease) ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ เท่ากับ 41,473 ล้านบาท ซึ่งไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และส่วนของผู้ถือหุ้น ตามงบเฉพาะกิจการกลับมาเป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาท จากที่เคยติดลบ 43,352 ล้านบาทในปี 2566 หลักๆ มาจากกำไรจากการดำเนินงานในระหว่างปี และผลจากการปรับโครงสร้างทุนส่งผลให้การบินไทยสามารถบรรลุอีกหนึ่งเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และยังส่งผลให้เหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นตามนิยามของตลาดหลักทรัพย์ หมดไป ทำให้บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในขั้นตอนถัดไป ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนดำเนินการเพื่อบรรลุเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการข้อสุดท้าย โดยได้มีมติเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันศุกร์ที่ 18 เม.ย.2568 เพื่อพิจารณาอนุมัติกำหนดจำนวนกรรมการบริษัท จำนวน 11หรือ 12 คน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการในปัจจุบันจำนวน 3 คน ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และพลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย และกรรมการเข้าใหม่จำนวน 8 คนหรือ 9 คน เพื่อพิจารณาเลือกตั้งได้แก่ นายลวรณ แสงสนิท ดร. กุลยา ตันติเตมิท นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ พลตำรวจเอก ธัชชัย ปิตะนีละบุตร นายชาติชาย โรจน์รัตนางกูร และนายชาย เอี่ยมศิริ และกรรมการอิสระ  3 คน  ได้แก่ นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล และนายสัมฤทธิ์ สำเนียง หลังจากแล้วเสร็จ ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2568 มีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชี ทำให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วลดลงจากประมาณ 283,033 ล้านบาท เป็นประมาณ 36,794 ล้านบาท และผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 180 ล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนมี.ค.นี้จะมีกำไรจากการดำเนินงาน ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นจะพลิกเป็นกำไร  เพื่อจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้

“การลดพาร์ล้างขาดทุนสะสม ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือบริษัทฯ และไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าบริษัทหรือมูลค่าต่อหุ้น เนื่องจากมูลค่าต่อหุ้นไม่ได้ถูกกำหนดจากพาร์และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคต รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน และเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นให้แก่นักลงทุนภายหลังการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหากในอนาคต บริษัทฯ ต้องการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการหรือชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูบริษัทฯ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดเรื่องผลขาดทุนสะสมซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีอีกต่อไป”

นาย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงานมากกว่า 40,000 ล้านบาท เกิดจากกลยุทธ์การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าใช้จ่าย  หากเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ในระยะยาว ทำให้กำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าปลายไตรมาสนี้ จากขาดทุนสะสมจะเป็นกำไรสะสม สามารถจ่ายเงินปันผลได้

“การลดพาร์ ไม่เกี่ยวกับราคาหุ้น และไม่มีผลกระทบกับผู้ถือหุ้นเดิม ส่วนของผู้ถือหุ้นจะเป็นบวกเดือนมี.ค.นี้ จะมีการยื่นเรื่องต่อศาล ขอกระทรวงพาณิชย์เพื่อลดพาร์ ขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเดือนพ.ค. ผู้บริหารแผนจะหมดหน้าที่ ให้คณะกรรมการบริษัทชุดใหม่เข้ามา คาดว่าหุ้นจะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมิ.ย.นี้ โดยบริษัทการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่  กระทรวงการคลัง รัฐวิสาหกิจและอื่นๆถือหุ้นไม่เกิน 49% ส่วนเจ้าหนี้อื่นๆ ถือ 33%” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

กรณีหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นผันผวนนั้นนายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ตลาดผันผวนสูงตลอด เมื่อไรจะหมดความผันผวน จะต้องเข้าตลาดหุ้นตามแผน เพื่อให้เจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุน และผู้ถือหุ้นใหม่มีโอกาสในการซื้อขายหุ้น

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย กล่าวว่า บริษัทฯจะมีการเซ็น MOU กับ บริษัทการบินกรุงเทพ (BA) หรือบางกอกแอร์เวย์ ร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตระเภา (MRO) คาดต้นทุนในการดำเนินงานประมาณ 1 หมื่นล้านบาท  โดยการบินไทยเสนอตัวกับ EEC มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยเข้าไปดำเนินการสร้างศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ซึ่งการบินไทยมีความสามารถ มีประสบการณ์ และมีเครื่องบินของตัวเองในการสร้างรายได้ การร่วมลงทุนครั้งนี้ การบินไทยจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้

ส่วนในปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฝูงบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเพิ่มจุดบินใหม่เพื่อรองรับการเติบโต  โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 16.14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.38 ล้านคนจากปีก่อน ในขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ลดลงจาก 79.7% เป็น 78.8% ภาพรวมปีนี้คาดว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านคน แนวโน้มในช่วง 2 เดือนแรกดีขึ้นมาก  แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่เครื่องบินมีจำนวน 79 ลำ ส่วนที่จะเข้ามาเพิ่มในปีนี้ จำนวน 9 ลำ  อาจจะล่าช้าไม่เข้ามาต้นปี คาดไตรมาสที่ 2 ส่งผลต่อการขยายตัว กระทบต่อประมาณการรายได้ไม่มากประมาณ 2% ขณะเดียวกันจะต้องมีการปลดระวางเครื่องบินเก่า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน  บริการ ลดต้นทุนในการดูแล

” ทุกสิ่งที่ทำจะต้องตอบโจทย์ธุรกิจ จะรักษาระดับกำไรจากการดำเนินงาน 4 หมื่นล้านบาท พิสูจน์มาแล้วผลงานปี 2566 และ 2567 มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนชัดเจน มีเป้าหมายร่วมกันในองค์กร โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของบุคคลากร  โดยมีมาร์จิ้นสูงถึง 22% ถือว่าเป็น Top ของโลกอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม วัดถึงประสิทธิภาพของการจัดการ ส่วนแนวโน้มในปี 2568-2570  การแข่งขันไม่รุนแรง  เพราะปัญหาจำนวนเครื่องบินใหม่จะไม่เข้ามาเร็ว  ส่วนเราแม้ว่าจะออกแผนฟื้นฟูแล้ว แต่ยังต้องเร่งหารายได้ ลดค่าใช้จ่าย สร้างกำไรนำเงินมาชำระหนี้  ขณะเดียวกันได้เครดิตไลน์กับคู่ค้าในการบริหารความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน”นายชายกล่าว

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัว  ไม่กระทบต่อการบินไทย เพราะมีสัดส่วนรายได้เพียง 2-3% ยังมีผู้โดยสารตลาดยุโรป ญี่ปุ่น ตลาดใหม่มุมไบ ปากีสถาน  มีการปรับปรุงความถี่ความจุมากขึ้นให้เหมาะสม ขายเครือข่ายมากขึ้น ได้กำไรมากขึ้น  ปัญหาเรื่องกำลังการผลิต การบินไทยไม่ได้ประสบเพียงบริษัทเดียว คนอื่นก็เจอปัญหาเครื่องบินไม่เพียงพอ