SPCG ยื่นฟ้องกฟภ.ละเมิดข้อตกลง เรียกค่าเสียหาย 3.7 พันล้าน

HoonSmart.com>> “เอสพีซีจี” จับมือ “เซท เอนเนอยี” ยื่นศาลปกครองกลาง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” เป็นเงิน 3,709 ล้านบาท ละเมิดข้อตกลงร่วมพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะพื้นที่เมืองใหม่ EEC ทำบริษัทเสียหาย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี (SPCG) เปิดเผยว่าบริษัท เอสพีซีจีฯ และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัดยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมเป็นเงิน 3,709,300,451.24 ล้านบาท ฐาน กฟภ. ใช้อำนาจละเมิดบริษัทฯ ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC ที่ได้ดำเนินร่วมกันมาระหว่างบริษัทฯ กฟภ. และบริษัท พีอีเอ เอนคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (รัฐวิสาหกิจที่ กฟภ.ถือหุ้นทั้งหมด) ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายจากการลงทุนในการจัดซื้อที่ดินจากเอกชน เพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ EEC รวมถึงมีการลงทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ บริษัท เอสพีซีจีฯ ขอแสดงจุดยืนว่าได้ร่วมดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับขั้นตอนตามกฎหมาย บนพื้นฐานของความระมัดรอบคอบและสุจริตมาตลอด จึงต้องการขอความเป็นธรรมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น โดยที่มาของการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ให้กฟภ. หรือบริษัทในเครือของ กฟภ. ศึกษาและวางแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดการเชื่อมต่อเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า การจำหน่ายพลังงาน การปรับปรุง บำรุง และรักษาระบบการผลิตและเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าสะอาดให้สามารถใช้สนับสนุนการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดย กฟภ.ได้มอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ) ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่ กฟภ. ถือหุ้นทั้งหมด เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งจำหน่ายเข้าระบบโครงข่ายของ กฟภ. ในพื้นที่ EEC

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ผลตอบแทน และการจัดหาแหล่งเงินทุนของ กฟภ. และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ รวมถึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยในระยะแรกการพัฒนาโครงการดังกล่าวจะมีขนาดไม่ต่ำกว่า500 เมกะวัตต์ (MW) และใช้เงินลงทุนประมาณ 23,000 ล้านบาท SPCG ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมีความเชี่ยวชาญการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงได้รับเชิญให้ร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า การจำหน่ายพลังงาน การปรับปรุง บำรุงรักษาระบบการผลิตและเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าสะอาด ให้สามารถสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ EEC

จากนั้นบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ในพื้นที่ EEC” ร่วมกันระหว่าง 3 องค์กร ได้แก่ บริษัทฯ กฟภ. และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และร่วมกันจัดตั้ง บริษัท เซทฯ ในช่วงปลายปี 2562 เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยเฉพาะ โดยบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ได้นำเงินมาร่วมทุนในบริษัท เซทฯ ในสัดส่วน 20% ของเงินลงทุนทั้งหมดตามมติคณะกรรมการของบริษัท เอสพีซีจีฯ และ กฟภ. และปี 2563 ได้ก็เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัท เซทฯ เป็นไม่น้อยกว่า 25% ของเงินลงทุนทั้งหมดโดยความรับรู้ของ กฟภ. ขณะที่บริษัทเอสพีซีจีฯ ก็ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมทุนตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ร่วมทุนในการจัดตั้งบริษัทกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ อย่างถูกต้องทุกประการ

การดำเนินโครงการฯมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยเมื่อปลายปี 2563 กฟภ.ได้อนุมัติการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC โดยมี กฟภ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ต่อมาในปี 2566 กฟภ. ได้มีหนังสือแจ้งถึงบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ว่า กฟภ.เห็นชอบให้โอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ผลิตไฟฟ้าตามสัญญาดังกล่าวจากบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ให้แก่บริษัท เซทฯ รวมถึงได้แจ้งความคืบหน้าให้ สกพอ. ทราบมาตลอด

ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และบริษัท เซทฯ กำหนดให้บริษัท เซทฯ ต้องจัดหาที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ตั้งโครงการฯ และในกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีกำหนดเวลาการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 โดยเมื่อบริษัท เซทฯ ได้รับหนังสือยืนยันตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินซึ่งเป็นจุดที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ได้แล้ว บริษัท เซทฯ จึงได้เร่งจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ EEC เฉพาะแปลง และได้ใช้เงินลงทุนเคลียร์พื้นที่ ปรับถมดิน ล้อมรั้ว จ้างที่ปรึกษาด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงิน การเงินอิสระ กฎหมาย เทคนิค กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการโอนกิจการ เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการฯ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ EEC

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2551 กำหนดว่าผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสัญญาจะซื้อจะขายไฟฟ้ากับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้ามาแสดง อย่างไรก็ตาม กฟภ. กลับไม่ได้จัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟภ. กับบริษัท เซทฯ ตามที่อนุมัติก่อนหน้านี้ บริษัทฯ จึงส่งหนังสือขอเร่งรัดและสงวนสิทธิการขยายระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นการใช้ความระมัดระวังรอบคอบและรักษาประโยชน์สูงสุดของบริษัท เซทฯ แล้ว

ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 กฟภ. ก็ได้ส่งหนังสือถึงบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และบริษัท เซทฯ แจ้งว่า กฟภ.ขอยกเลิกหนังสือแจ้งให้ความยินยอมการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยอ้างว่าบริษัท เซทฯ ไม่ใช่คู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ที่จะอ้างหรือใช้สิทธิขอขยายระยะเวลาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ รวมทั้งมีหนังสือแจ้ง สกพอ.ว่าได้มีการยกเลิกการให้ความยินยอมโอนสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว รวมทั้งขอยกเลิกการยืนยันพื้นที่ติดตั้งโครงการและอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อในโครงการตามที่เคยแจ้งให้ทราบอันเป็นการใช้อำนาจรัฐซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ บริษัท เซทฯ

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัท เซทฯ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินโครงการฯต่อได้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อพัฒนาโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาดและพลังงานสำรองแก่โครงการ EEC เท่านั้น โดยมีบริษัท เอสพีซีจีฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และได้ผ่านการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของบริษัท เอสพีซีจีฯ ในการประชุมวิสามัญ จึงจำเป็นต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก กฟภ. เพื่อนำมาชดเชยผลประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น” กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เอสพีซีจีฯ กล่าว