ส่งออกม.ค.พุ่งแรง 13.6% คาด Q1 สดใสต่อ กสิกรฯชี้สงครามการค้า-0.5% ทั้งปีโต 2.5%

HoonSmart.com>> ส่งออกเดือนม.ค.สดใส พุ่งกระฉูด 13.6% แรงกว่าตลาดคาดโต 7-8% กระทรวงพาณิชย์หวังไตรมาส 2 และ 3 โตสองหลักต่อเนื่อง  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้สาเหตุมาจากประเทศคู่ค้าเร่งนำเข้าก่อนถูกสหรัฐขึ้นภาษี ไทยได้ประโยชน์ถึงไตรมาสแรก ประเมินสงครามการค้าฉุดส่งออกไทย 0.5% เหลือทั้งปีโต 2.5%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนม.ค.2568 พบว่าการส่งออก มีมูลค่า 25,277 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.6% (YoY) จากตลาดคาดโต 7-8% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 27,157 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.9% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,880 ล้านดอลลาร์ ยังเชื่อว่าการส่งออกในไตรมาสแรกน่าจะโตอย่างต่อเนื่อง  ไตรมาส 2 และ 3 จะโตได้สองหลัก หากรักษาเฉลี่ยต่อเดือนไว้ที่ระดับ 25,000-26,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ทั้งปีเติบโตได้ 2-3% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังขยายตัวดี มาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง, อุปสงค์ต่างประเทศที่เร่งตัว จากความกังวลประเด็นสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน, ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่เติบโตต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต

การส่งออกแยกตามประเภท สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 มีมูลค่า 20,695.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.0%   สินค้าที่ขยายตัวได้ดี  ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป), เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 มีมูลค่า 1,698.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.0%  เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, และอาหารสัตว์เลี้ยง และ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

สำหรับสินค้าเกษตร หดตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน มีมูลค่า 2,027.7 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.2% โดยสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป  ปีนี้ส่งออกผลไม้ไม่น่าห่วง คาดปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 7 แสนตัน มากกว่าปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 5 แสนตัน  แต่ที่น่าห่วง คือ สินค้าข้าว มันสำปะหลัง เพราะราคาแข่งขันยาก  ตอนนี้แพงสุดในโลก

ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนม.ค.ที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่  1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 852.7%  2 เอเชียใต้ ขยายตัว 111.5%  3 สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 22.4%  4 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 21.6% อันดับ 5  ขยายตัว 13.9% 6 สหภาพยุโรป ขยายตัว 13.8% 7 จีน ขยายตัว 13.2% 8 สหราชอาณาจักร ขยายตัว 9.8% 9 CLMV ขยายตัว 5.2% และ 10 อาเซียน 5 ขยายตัว 4.8%

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองส่งออกเดือนม.ค.ขยายตัวที่ 13.6%YoY สูงกว่าคาด และขยายตัวสูงที่สุดในช่วงเวลาเดียวกันนับตั้งแต่ปี 2561 เพราะยังได้แรงหนุนจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนการขึ้นภาษีนำเข้า คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการเร่งนำเข้าสินค้าในตลาดต่าง ๆ ไปจนถึงไตรมาสแรก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ไว้เบื้องต้นที่ -0.5% ซึ่งรวมอยู่ในประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2568 แล้วที่ 2.5% ชะลอจากปีก่อนหน้า

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังเติบโตดีต่อเนื่องตามขาขึ้นของวัฏจักรสินค้า ประกอบกับการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งหนุนให้การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัว 22.4%YoY โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมถึง HDDs และหม้อแปลงไฟฟ้า

นอกจากนี้ การส่งออกไปจีนที่ขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 13.2%YoY ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าขั้นกลางที่ขยายตัวดี อาทิ พลาสติกและเคมีภัณฑ์ การส่งออกไปยังอาเซียนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบสามเดือนที่ 4.8% เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนชั่วคราวจากการส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับอากาศยาน ซึ่งหากหักออก การส่งออกไปอาเซียนจะยังขยายตัวที่ 0.9%YoY