BKGI ชู “ศาสตร์จีโนมิกส์” พลิกอุตสาหกรรมการแพทย์

HoonSmart.com>> BKGI ชู “ศาสตร์จีโนมิกส์” พลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์  ชู “ศาสตร์จีโนมิกส์” ซึ่งเป็น การวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจกลไกของสิ่งมีชีวิตได้ในเชิงลึก เช่น การศึกษาโครโมโซม หรือ ดีเอ็นเอ (DNA)

กระแสการดูแลสุขภาพ ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจในธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ ถือเป็น Mega Trend ของโลกที่มีอัตราการเติบโตที่ดี ซึ่งจากงานวิจัยของสถาบัน Global Wellness Institute (GWI) วิเคราะห์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพทั่วโลกจะเติบโตและมีมูลค่าเพิ่มเป็นประมาณ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 หรือเติบโตในอัตราประมาณ 9.9% ต่อปี

ขณะที่อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขของไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจัยขับเคลื่อนที่สําคัญ คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (พ.ศ. 2560 – 2579) ได้วางเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรในไทยระยะยาว โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อน เพื่อเป้าหมายสูงสุดให้คนไทยมีสุขภาพดี รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ จึงทำให้มีความตื่นตัว และหันมาสนใจนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุขภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ.2563 – 2567) เพื่อผลักดันให้เกิดกิจกรรมการแพทย์ในระดับจีโนมในประเทศไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ศาสตร์จีโนมิกส์ (Genomics) คือ การวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจกลไกของสิ่งมีชีวิตได้ในเชิงลึก เช่น การศึกษาโครโมโซม หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) ไปจนถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การแพทย์จีโนมิกส์ หรือ Genomics Medicine จึงถือเป็นแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ที่สำคัญในการพลิกโฉมแนวทางการรักษาสำหรับวงการแพทย์ จะเป็น New S-Curve สำคัญ ที่จะเปลี่ยนแนวทางการรักษาจากการรักษาในอดีตที่ใช้วิธีการรักษาโรคเดียวกัน รักษาเหมือนกัน ใช้ยาตัวเดียวกัน มาเป็นการรักษาเจาะจงเฉพาะบุคคล เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาที่แม่นยำขึ้น และช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดและโอกาสหายจากโรคที่รักษายากได้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรม (Next – Generation Sequencing : NGS) มาใช้ในการตรวจวิเคราะห์ด้านการแพทย์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาเทคนิคการตรวจให้สามารถตรวจได้ในราคาที่ถูกลง

ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ

ทั้งนี้ บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น  (BKGI) เป็นหนึ่งในบริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการแพทย์จีโนมิกส์ นำโดย “นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ” และกลุ่มผู้ถือหุ้นคนไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับยีนหรือพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ ศาสตร์จีโนมิกส์ (Genomics) หากนำมาประยุกต์ใช้ในบริการทางการแพทย์ จะช่วยทำนายและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคทางพันธุกรรม รวมทั้งการวางแผนดูแลสุขภาพ เพื่อการป้องกันและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้จัดตั้ง บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์ อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BKGI เพื่อประกอบกิจการห้องปฏิบัติการ และให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ โดยเริ่มการให้บริการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดาด้วยวิธี Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT) ภายใต้แบรนด์ NIFTY ของ BGI Genomics Co., Ltd. (“BGI Genomics”) บริษัทในกลุ่ม BGI

BKGI ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในนาม “คลินิกเทคนิคการแพทย์แบงคอกจีโนมิกส์” จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ขณะเดียวกันให้บริการอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งการตรวจคัดกรองอื่นๆ ซึ่งลูกค้าของบริษัทฯ มีทั้งลูกค้าภาครัฐ เช่น โรงเรียนแพทย์ ศูนย์อนามัย รวมทั้ง ลูกค้าภาคเอกชน เช่น คลินิก โรงพยาบาล และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เอกชน เป็นต้น

เพื่อให้การทดสอบทางพันธุกรรมสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับคนไทย ทั้งในด้านของความรวดเร็วในการให้บริการและราคา และยังคงไว้ ซึ่งคุณภาพการบริการ BKGI ได้นำทั้งแนวคิด พร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่ม BGI ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และพันธมิตรที่แข็งแกร่ง มาประยุกต์ใช้ในการบริการทางการแพทย์ในไทย ซึ่ง กลุ่ม BGI ถือเป็นบริษัทอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2565 (ข้อมูลจาก www.nature.com/nature-index) ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) จากงานวิจัยต่างๆ
รวมถึงการให้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า โดยกลุ่ม BGI อนุญาตให้บริษัทฯ ใช้เครื่องหมายการค้าที่กลุ่ม BGI เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น NIFTY, VISTA, NOVA, BGI-XOME, COLOTECT, SENTIS, PMseq และ BGI ในประเทศไทยเท่านั้น

ปัจจุบันการประกอบธุรกิจของ BKGI สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1) ธุรกิจการให้บริการตรวจคัดกรองและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้
1.1 การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ (Reproductive Health Testing Services) เช่น การตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา (NIPT) และการตรวจคัดกรองพาหะของโรคทางพันธุกรรม

1.2 การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ (Infectious Related Testing Services) เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 การตรวจภูมิคุ้มกัน การตรวจหาเชื้อไวรัสฝีดาษลิง และการตรวจหาเชื้อก่อโรคมะเร็งปากมดลูกจากชุดเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV DNA test – self collection kit) เป็นต้น

1.3 การตรวจคัดกรองอื่นๆ (Other Testing Services) ได้แก่ การตรวจคัดกรองยีนก่อโรคมะเร็ง การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (COLOTECT) การตรวจคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่นๆ และการถอดรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคล (DNALL) การตรวจคัดกรองสำหรับเด็กแรกเกิด และการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เป็นต้น

1.4 การให้บริการงานด้านเทคโนโลยี (Tech Solution Services) บริการตรวจวิเคราะห์เพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบองค์รวมทั้งระบบ หรือที่รู้จักกันในชื่อ การศึกษาด้านโอมิกส์ (Omics) ซึ่งเริ่มตั้งแต่การศึกษาด้าน Genomics หรือการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม (DNA) ของสิ่งมีชีวิต การศึกษาแสดงออกของยีนในระดับ RNA (Transcriptomics) การศึกษาการแสดงออกของโปรตีน (Proteomics) รวมถึงการศึกษาสารชีวเคมีหรือสารเมตาบอไลท์ (Metabolomics) ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า Omics for All เพื่อให้บริการแก่นักวิจัยในโครงการวิจัยต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์และด้านอื่นๆ ของสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

2) ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Other Products) อาทิ ชุดอุปกรณ์สำหรับการเก็บสิ่งส่งตรวจ น้ำยาตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 และน้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 และชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบครบวงจร เป็นต้น รวมทั้งในอนาคต จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้กับลูกค้าที่ใช้บริการถอดรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียดตามคำแนะนำของแพทย์

เมื่อแนวโน้มอุตสาหกรรมจีโนมิกส์ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นจังหวะที่ดีของ BKGI ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในเร็ว ๆ นี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนใช้เป็นทุนหมุนเวียน ต่อยอดการให้บริการด้านการตรวจพันธุกรรม และการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อให้ครอบคลุม และรองรับความต้องการของลูกค้าได้ทุกช่วงวัย และเพิ่มศักยภาพในการผลักดันการเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่องค์กรชั้นนำด้านวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ทั้งสุขภาพเฉพาะบุคคลและการสาธารณสุข โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง คำนึงถึงคุณภาพการให้บริการ และราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อให้ประชากรมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต