BOI จัดชุดใหญ่ ดึงลงทุนสูง หนุนสมาร์ทซิตี้- ชวนหุ้นเข้าตลาด

บอร์ดบีโอไอแจกมาตรการภาษีชุดใหญ่ สนับสนุนโครงการขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท พุ่งเป้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งลงทุนในปี 2562 โดยเฉพาะใน EEC ได้พิเศษ หนุนสมาร์ทซิตี้ ดึงดูดบริษัทเข้าตลาดหุ้นถึงปี 2563

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าเห็นชอบมาตรการพิเศษ เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมภายในปี 2562 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ต้องมีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทในทุกประเภทกิจการ (ยกเว้นกิจการที่ไม่มีสถานประกอบการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการขนส่งทางเรือ เป็นต้น) ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีขึ้นไปตามเกณฑ์สิทธิปกติ และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับคำขอที่ยี่นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2561 ไปจนถึงสิ้นปี 2562

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาทั้งพื้นที่ ระบบ และนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับการเป็นประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ 2.กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ และ3.กิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

การส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือจะต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม และจะต้องลงทุนจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อีกอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน (Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy) และจะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมาก

“หากผู้ลงทุนสามารถจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี(จำกัดวงเงิน) แต่หากไม่ครบทั้ง 7 ด้าน จะได้รับการยกเว้นภาษี 5 ปี และในกรณีที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง”น.ส.ดวงใจกล่าว

ส่วนกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือโครงการที่จะขอรับการส่งเสริมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยจะให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี (จำกัดวงเงิน) ในกรณีที่เป็นการพัฒนาระบบให้กับเมืองอัจฉริยะหรือนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ผู้พัฒนาระบบดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีเช่นกัน และหากตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่ EEC จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง

สำหรับกิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะภายในพื้นที่ครบทั้ง 7 ด้าน นอกจาก 6เดือนดังกล่าว เพิ่ม Smart Environment โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี (จำกัดวงเงิน) และจะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมาก เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวทางคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกำหนด ที่ประชุมจึงได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะขอรับส่งเสริมทั้งกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ และกิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและดิจิทัล โดยปรับปรุงเงื่อนไขประเภทกิจการศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรมในหลายประเด็น เช่น เพิ่มพื้นที่ขั้นต่ำจากเดิม 300 ตารางเมตร เป็น 1,000ตารางเมตร เพื่อความเหมาะสม และต้องมีแผนการบ่มเพาะเพื่อการพัฒนานวัตกรรมตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม

รวมทั้งเห็นชอบให้บีโอไอเปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการ Maker Space หรือ Fabrication Laboratory เพื่อให้บริการเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบของตนเอง โดยต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ในงานสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบสื่อสารหลักแบบใยแก้วความเร็วสูง ระบบไฟฟ้าสำรองจ่ายแบบต่อเนื่องด้วย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

“เพื่อดึงดูดบริษัทระดับโลกที่มีชุมชนนักพัฒนาที่เข้มแข็งให้มาลงทุนในไทย ที่ประชุมได้อนุมัติให้เปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการ Co-Working Space เพื่อเสริมภาวะแวดล้อมให้เกิดการเชื่อมโยงกับนักพัฒนาของไทย และยังช่วยส่งเสริมชักจูงสตาร์ทอัพและ VC จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทยด้วย เงื่อนไขสำคัญ คือต้องจัดให้มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2,000 ตารางเมตร และมีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร”น.ส.ดวงใจกล่าว

หนุนบริษัทเข้าตลาดหุ้น 2 ปีเศษ เว้นภาษี100%

น.ส.ดวงใจกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100 %ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุน มาตรการนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2561 ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2563

ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ทบทวนหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือแบบ MOU เท่านั้น นับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายได้ทุกประเภทไม่จำกัดเพียงแรงงานต่างด้าวแบบ MOU เท่านั้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน

9 เดือนปีนี้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น

ส่วนภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2561)น.ส.ดวงใจกล่าวว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 1,125 โครงการ เพิ่มขึ้น10% และเงินลงทุนทั้งสิ้น 377,054 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 373,908 ล้านบาท

ทั้งนี้การขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 69% โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 525 โครงการ เงินลงทุนรวม 290,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีมูลค่า 171,584 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองมาคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน การท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และดิจิทัล เป็นต้น

สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี โดยมีจำนวน 288 โครงการ ขยายตัว 13 %จากปีก่อนมีจำนวน 255 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนก็เพิ่มขึ้นถึง 117% เป็นจำนวน 230,554 ล้านบาท จาก 106,126 ล้านบาท