HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับที่ 1,235 และ 1,225 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,270 และ 1,285 จุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ติดตามตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. การประชุมกนง. (26 ก.พ.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด นโยบายของทรัมป์ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นไทยสัปดาห์ถัดไป (24-28 ก.พ. 2568) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,235 และ 1,225 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,270 และ 1,285 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ของไทย การประชุมกนง. (26 ก.พ.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนม.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 (ครั้งที่ 2) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของยูโรโซน ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.ของญี่ปุ่น
ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,246.21 จุด ลดลง 2.04% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 52,240.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.59% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.82% ปิดที่ระดับ 270.49 จุด
ดัชนีหุ้นปรับตัวลงแรงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี 3 เดือนครั้งใหม่ที่ 1,236.80 จุดช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงกดดันหลัก ๆ มาจากแรงขายหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยาน (กังวลเรื่องผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของคู่ค้า) และหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง (หลังผลประกอบการไตรมาสล่าสุดออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลให้หลายบล. แนะนำขาย) ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนจนถึงช่วงกลางสัปดาห์ตามรายงานข่าวที่ว่ากระทรวงการคลังเตรียมเปิดกองทุน Thai ESG ใหม่เพื่อรองรับเม็ดเงินจากกองทุน LTF ที่ครบกำหนด
ดัชนีหุ้นพลิกร่วงอีกครั้งในเวลาต่อมาสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังมีรายงานข่าวว่าสหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ ยาและเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบกับบันทึกการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดไม่มีความจำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีแรงขายของนักลงทุนชะลอลงในช่วงปลายสัปดาห์หลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้
อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวได้ดีโดยมีแรงหนุนจากการประกาศจ่ายเงินปันผล รวมถึงหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ขยับขึ้นเช่นกันจากข่าวที่ว่า ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24-28 ก.พ. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ก.พ.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 17-21 ก.พ. 2568 นั้นซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,177 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,463 ล้านบาท
เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนท่าทีระมัดระวังต่อแรงกดดันเงินเฟ้อและอาจไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอนาคตอันใกล้นี้
อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์สอดคล้องกับค่าเงินเยน (ที่มีแรงหนุนในช่วงแรกจากการคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย) และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก (ซึ่งยังได้รับอานิสงส์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ และประเด็นสงครามการค้า)
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันหลังจากบันทึกการประชุมเฟดระบุว่า เฟดมีการหารือกันเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอการปรับลดงบดุลของเฟด ประกอบกับเครื่องชี้ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด (จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 5,000 ราย ไปที่ 219,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดคาดที่ 215,000 ราย) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม หลังตลาดรับรู้การเตรียมปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยาของสหรัฐฯ ไปแล้วบางส่วน