TU แกร่ง! ปี 67 ฟันกำไร 5 พันล้านบ. มาร์จิ้น 18.5% แจกปันผลอีก 35 สต./หุ้น

HoonSmart.com>>”ไทยยูเนี่ยน” (TU)  ดีขึ้นทุกธุรกิจปี  67 พลิกกำไร 4,984.89 ล้านบาท โกยยอดขายทะลุ 1.38 แสนล้านบาท  การเงินแข็งแกร่ง DE  0.94 เท่า กระแสเงินสดสูงถึง 11,705 ล้านบาท EBITDA  เพิ่มขึ้น 8.6% เป็น 13,361 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวถึง 18.5% วิ่งเข้าเป้า  23% ภายในปี 73  มุ่งเพิ่ม EBITDA  เป็น 2 เท่า บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผลอีก 0.35 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปี 0.66 บาท เท่ากับ  60% ของกำไร 

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปี 2567 มีกำไรสุทธิ 4,984.89 ล้านบาท กำไรหุ้นละ 1.08 บาท พลิกจากปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 13,933 ล้านบาทหรือ ขาดทุนหุ้นละ  4.34  บาท  ด้วยยอดขายรวมกว่า 138,433 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7%  โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวถึง 18.5%ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรที่ตั้งเป้าไว้ที่ 23% ภายในปี 2573

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป  กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในปี 2567 เป็นปีที่สร้างผลงานได้ดีทั้งด้านยอดขาย และการเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้นที่ 18.5% เป็นผลจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป รวมถึงกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง ที่มีการปรับพอร์ตผลิตภัณฑ์ให้มีอัตรากำไรดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ขยายตัวได้ดีมากจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้ากลุ่มพรีเมียม และสถานการณ์ของสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ในปี 2567 ไทยยูเนี่ยนได้เปิดตัว “กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573” โร้ดแม็ปใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตครั้งสำคัญ พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล โดยมีสองโปรเจกต์ทรานฟอร์มเมชั่น ได้แก่ โปรเจกต์โซนาร์ (Project Sonar) ซึ่งเป็นโครงการทรานส์ฟอร์เมชั่นของกลุ่มบริษัท มุ่งวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว และโปรเจกต์เทลวินด์ (Project Tailwind) มุ่งเน้นที่การเร่งการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายของโครงการทรานฟอร์มเมชั่น ที่มีนัยสำคัญ หากไม่รวมค่าใช้จ่ายดังกล่าว กำไรสุทธิในปี 2567 จะอยู่ที่ 5,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ในปี 2567 บริษัทฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารธุรกิจ ทำกำไร และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 0.94 เท่า มีกระแสเงินสดสูงถึง 11,705 ล้านบาท จาก EBITDA ที่แข็งแกร่ง 13,361 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับสองในประวัติการณ์ตลอดจนความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ  ทำให้มีความคล่องตัวและสามารถสร้างโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคตได้

สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในไตรมาสที่ 4/2567 พบว่า ยอดขายปรับตัวลดลงราว 1.2% เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 3.1% อย่างไรก็ดีการเติบโตจากการดำเนินงานตามปกติยังคงเติบโตที่ 1.9%เป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นยังคงขยายตัวอยู่ที่ 18.7% สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,213 ล้านบาท ลดลง 18.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากค่าใช้จ่ายการดำเนินกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ซึ่งหากไม่นับรวมค่าใช้จ่ายของโครงการทรานฟอร์มเมชั่น กำไรสุทธิ จะอยู่ที่ 1,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3%

“แม้เราจะต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่มีความไม่แน่นอน ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผู้บริโภคทั่วโลกใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจของเรายังคงเติบโตได้ดี ทั้งกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว และดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายยอดขาย 2.45 แสนล้านบาท (7,000 ล้านดอลลาร์ ) และเพิ่ม EBITDA เป็นสองเท่าภายในปี 2573″ นายธีรพงศ์ กล่าว

สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยนยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง จากปริมาณความต้องการสินค้าต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปที่สร้างยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 68,412 ล้านบาท ขยายตัว 7.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากอัตราการเติบโตของยอดขายในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และตะวันออกกลาง ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงและยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 19.1%

ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มียอดขายรวม 17,389 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 15.5%ได้ปัจจัยสนับสนุนจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้ากลุ่มพรีเมียม รวมถึง ปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดยุโรปและจีนที่ดีต่อเนื่อง ทำให้ปี 2567 กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวสูงถึง 28.5%

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง มียอดขายรวม 42,226 ล้านบาท ลดลงราว 10.7% เนื่องจากยอดขายที่ลดลง แต่เมื่อพิจารณาอัตราส่วนกำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งพบว่ามีการฟื้นตัว 11.7% สะท้อนให้เห็นว่าการปรับโครงสร้างทางธุรกิจในสหรัฐอเมริกา สามารถสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้นต่อเนื่อง และสุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่นๆ สามารถทำยอดขายได้ 10,406 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 5.2%เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายของไทยยูเนี่ยนตามภูมิภาค มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คิดเป็นอัตรา 39.4% ของรายได้รวมทั้งหมด รองลงมาเป็น ยุโรป 30.0% ไทย 11.0% และ ภูมิภาคอื่นๆ อีก 19.6%

นอกจากนี้ ในเดือนธ.ค. 2567 บริษัทได้ดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน ครั้งที่ 4 ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท หรือจำนวน 200 ล้านหุ้น โดยจะเริ่มซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-30 มิ.ย. 2568 ณ วันที่ 14 ก.พ. 2568 บริษัทฯ มีจำนวนหุ้นที่ซื้อคืนสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 107 ล้านหุ้น  เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นให้ดีขึ้น

ไทยยูเนี่ยนในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารของโลก จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ประจำปี 2567 ด้วยคะแนนรวมสูงสุด 85 คะแนน นับตั้งแต่ปี 2561 เราได้รับการจัดอันดับ 1 ถึง 4 ครั้ง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เป็นหนึ่งใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ระดับ A ประจำปี 2567 ในกลุ่ม Agro & Food Industry อีกด้วย

“ปี 2568 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทาย ทั้งผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐ และเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่าภายใต้กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 เราจะก้าวพ้นกระแสแห่งความผันผวน เพื่อสร้างโอกาส สร้างรากฐานธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเลได้ในที่สุด” นายธีรพงศ์ กล่าว

ด้านคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลอีกหุ้นละ 0.35  บาท รวมเป็นเงิน 1,489.29 ล้านบาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล ในวันจันทร์ที่ 3 มี.ค. 2568 และจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 25 เม.ย. 2568  ก่อนหน้านี้ บริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 จำนวนเงิน 1,319.09 ล้านบาท หรือในอัตรา 0.31 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปีจ่ายหุ้นละ 0.66  บาท เป็นเงิน 2,808.38 ล้านบาท    คิดเป็นสัดส่วนการจ่ายเงินปันผล 60%ของกำไรปี 2567  คิดเป็นอัตราผลตอบแทนต่อราคาหุ้นที่   5.7%  ตอกย้ำศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ราคาหุ้น TU ปิดที่ 11.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ +0.86% สำหรับการซื้อขายครึ่งวันที่ 17 ก.พ. 2568