โกลบอล เพาเวอร์ ฯ มั่นใจปีหน้าโต โรงไฟฟ้า 3 แห่ง COD เพิ่มเป็นเฉียด 2,000 เมกะวัตต์ เล็งลงทุน SPP เมียนมา อีกไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ คุมปัจจัยเสี่ยงต้นทุนก๊าซขยับตามน้ำมัน ส่วนการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้นแบบกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ขอเวลาทบทวนแผนลงทุน คาดจะเกิดต้องรอ 2-3 ปี
นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตจากปีนี้ โรงไฟฟ้า 3 แห่งจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)เกือบ 400 เมกะวัตต์ เพิ่มกำลังผลิตที่ COD เป็น 1,922 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำลิก สปป.ลาว ที่จะเริ่ม COD ในไตรมาส 1 ,โรงไฟฟ้าชัยยะบุรี สปป.ลาว จะเริ่ม COD ในไตรมาส 4 และศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 จังหวัดระยอง (CUP 4) และในปี 2563 จะมีกำลังการผลิตที่ COD เพิ่มเป็น 1,940 เมกะวัตต์ จาก โรงไฟฟ้านวนคร เฟส 2 จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 1,530 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามในปี 2562 บริษัทฯจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งจะต้องรักษาผลการดำเนินงานไม่ให้กระทบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ พร้อมกับการเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทกำลังพิจารณาลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังการผลิตไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ในเมียนมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเห็นความคืบหน้าในการลงทุนภายในปี 2562 อีกทั้งยังมีโครงการอื่น ๆ ที่บริษัทสนใจลงทุนในเมียนมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการ Gas to Power ที่จะร่วมกับบริษัท ปตท. (PTT)
ส่วนแผนการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้นแบบกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมงในประเทศไทยนั้น บริษัทได้เลื่อนแผนการลงทุนออกไปจากกำหนดเดิมจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 เนื่องจากมองว่าราคาขายแบตเตอรี่ยังอยู่ในระดับที่สูง และไม่มั่นใจว่าจะมีความต้องการซื้อแบตเตอรี่ของลูกค้ามากหรือน้อยเพียงใด ทำให้มีความเสี่ยง จึงไม่เร่งรีบที่จะลงทุน และกลับมาทบทวนแผนการลงทุนใหม่อีกครั้ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาขนาดของการผลิตแบตเตอร์รี่ที่เหมาะสม และรูปแบบการลงทุน ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งการลงทุนเอง หรือการร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งไทยหรือต่างประเทศ คาดว่าการทบทวนแผนลงทุนจะมีความชัดเจนภายในปี 2562 และคาดว่าจะเริ่มลงทุนก่อสร้างได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
สำหรับการยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่เห็นชอบด้วยกับคำขออนุญาตของบริษัทเพื่อการเข้าถือหุ้นของบริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30-60 วันถึงทราบผล และหากกกพ.ยกคำร้องที่บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ไป บริษัทจะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมาย อาจจะพิจารณาขอยื่นคุ้มครองต่อศาลปกครองต่อไป อย่างไรก็ตามบริษัทมองว่าหากไม่ได้ซื้อ GLOW ก็ยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนอื่น ๆ ที่สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้