“เลขาคปภ.”เปิดแผน 3 ปี คาดเบี้ยประกันทั้งระบบ 1 ล้านล้านบ.

HoonSmart.com>>เลขาธิการคปภ.เปิดนโยบาย 3 ปี เน้น”การสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และเน้นคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน” คาดเบี้ยประกันทั้งระบบแตะ 1 ล้านล้านบาท ลั่นภาระกิจเร่งด่วนเพิ่มความมั่นคงทางการเงินภาคเอกชน ผ่อนเกณฑ์ลงทุนสินทรัพย์ใหม่ๆ รื้อโครงสร้างราคาประกันสุขภาพ ปรับระบบคำนวณความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ พร้อมเข้าสู่การทำงานแบบวัดผลความสำเร็จ เร่งปั้นผู้บริหารรุ่นใหม่ทดแทนคนเกษียณ

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แถลงนโยบายครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมาว่า ได้วางแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. 3 ปี เริ่มจากปี 2567-2569 เน้น”การสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และเน้นคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน” โดยคาดหวังเบี้ยประกันภัยทั้งระบบ ทั้งประกันชีวิต และ ประกันวินาศภัย จะมีเบี้ยประกันรับรวมแตะ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้เพราะสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจประกันเริ่มกลับมาแล้วเมื่อเทียบกับช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

สัญญาณที่บ่งบอกการฟื้นตัวของธุรกิจประกันภัย ประกอบด้วย การยกเลิกกรมธรรม์ต่ำมากประกันสุขภาพมีการขยายตัวสูง คาดว่าเบี้ยประกันทั้งระบบปี 2566 น่าจะจบที่ประมาณ 891,621 – 927,377 ล้านบาท โดยเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้น 5.16% เบี้ยประกันวินาศภัยเพิ่มขึ้น 3.92% สะท้อนว่าคนมีความต้องการความคุ้มครองเพิ่มขึ้น

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่อายุยืนจำเป็นต้องมีเงินออม ความคุ้มครองด้านสุขภาพ และด้วยค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นปีละ 8-9% ทำให้คนต้องการความคุ้มครองสุขภาพจากบริษัทประกัน ในปี 2567 นี้จะเห็นภาคเอกชนพัฒนากรมธรรม์แบบใหม่ๆ ออกมา

ขณะที่ บริษัทประกันที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด เริ่มมีกำไรแล้ว บางบริษัทกำไรเกือบแตะ 1,000 ล้านบาทแล้ว

“ทางสำนักงานคปภ.มีส่วนร่วมในการช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัว ผ่านกระบวนการกำกับดูแลและส่งเสริม รวมถึงการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในทุกๆ ด้านเพื่อช่วยลดต้นทุน ทำให้ธุรกิจปรับตัวง่าย ปรับตัวได้เร็ว และเติบโต ซึ่งเบี้ยและกำไรที่ได้มาก็จะกลับเข้าสู่การลงทุน การพัฒนากรมธรรม์ใหม่ๆ “นายชูฉัตร กล่าว

ผนึกภาคเอกชนฝ่า 7 แนวโน้มใหญ่

นายชูฉัตร กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีนับจากนี้มี 7 แนวโน้มใหญ่ๆ ที่ภาคธุรกิจและคปภ.ต้องร่วมเผชิญไปด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 2.สังคมผู้สูงอายุ 3.การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) 4.การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5.ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น 6.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ7.การเข้าถึงลูกค้า

ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ของไทย เป็นที่หนึ่งในอาเซียนและไม่แพ้ประเทศใด ในมุมของความคุ้มครองที่เหมาะสมกับความเสี่ยง โดยแนะนำว่าอย่าใช้กลยุทธ์การตัดราคาเข้ามาแข่งขันมากเกินไป จะทำให้เป็นภาระในการตั้งสำรองที่สูงขึ้น

ส่วนด้านค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาที่สูงขึ้นมากนั้น อยู่ระหว่างการปรับปรุงราคาเบี้ยประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของแต่ละคน โดยคนที่ป่วยหนักมีทางเลือกในการเข้ารับการรักษาที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่ ขณะที่คนเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หากขอรับการรักษาที่เกินจำเป็นจะถูกเพิ่มเบี้ยประกันในปีถัดไป

รวมถึง การทำให้ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคร้ายแรงแต่โรคนั้นอยู่ในระยะสงบกลับเข้าสู่ระบบได้ จากเดิมที่ไม่สามารถทำประกันได้ แม้ว่าในรอบ 20 ปีไม่มีอาการป่วยดังกล่าวแล้วก็ตาม ซึ่งอยู่ระหว่างการหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับทางภาคเอกชน

เร่งสร้างความมั่นคงคือภาระกิจเร่งด่วน

สำหรับ การทำงานของคปภ.ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ปี เน้นการทำงานแบบตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ (OKR) 5 ด้าน

ด้านที่ 1 เป็นภาระกิจเร่งด่วน คือ ยกเครื่องการกํากับดูแลความเสี่ยงและการตรวจสอบ บริษัทประกันภัย มุ่งสร้าง ความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือให้กับระบบเพื่อตอกยํ้าความมั่นใจและ สร้างศรัทธาให้กับประชาชน โดยเน้นการแก้ไข สกัดกั้นผลกระทบ ป้องปรามการกระทําผิด และลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

สอง ในการสร้างความเข้มแข็งทางการเงิน จะหยุดยั้งความเสียหายตั้งแต่ต้น ด้วยการวิเคราะห์ ตรวจสอบ ให้ลึกถึงปัญหา ทำการทดสอบภาวะวิกฤต ให้แม่นยำยิ่งขึ้น เพิ่มสัญญาณเตือนภัยทันทีตั้งแต่เนิ่นๆ หรือ Early Warning System จะส่องปัญหาได้ชัดขึ้น

นอกจากนี้ ทุกบริษัทต้องมีคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Governance Committee)ที่ต้องให้ความสำคัญในการทำให้กรมธรรม์มีความพร้อมตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่เรื่องของการคิดต้นทุนการขาย การเคลม และต้องมีการตั้งสำรองให้เพียงพอ การจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ ไปถึงการเตรียมรับเรื่องร้องเรียน

“เดิมเราโฟกัสไปที่ CEO เป็นหลัก นับจากนี้จะมีการโฟกัส CFO ด้วย และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้วย และการจ่ายปันผลจะต้องได้รับการอนุมัติจากคปภ.ด้วย”นายชูฉัตร กล่าว

นายชูฉัตร กล่าวว่า ขณะนี้ทางคปภ.กับภาคเอกชน อยู่ระหว่างการร่วมแก้กฎหมายการควบรวมกิจการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัทประกันภัยและให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยไม่ต้องรอสั่งปิดกิจการ ซึ่งจะไม่รอจนกว่ากฎหมายจะผ่านสภาฯเพราะต้องใช้เวลานาน อาจจะกินเวลาถึง 5 ปี แต่ถ้าเร็วอาจใช้เวลา 2-3 ปี ในระหว่างนี้ก็ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ไปก่อน เพื่อให้บริษัทสามารถช่วยกันแก้ปัญหาฐานะการเงินได้ด้วยตัวเองจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและธุรกิจ

ที่ผ่านมา มีบริษัทที่ปิดกิจการไปแล้ว 4 บริษัท มีหนี้ที่ถูกโอนไปไว้ที่กองทุนประกันวินาศภัยเพื่อดำเนินการชำระหนี้ มีเจ้าหนี้ 6 แสนราย มูลหนี้ 50,000 ล้านบาท ต้องใช้เวลาถึง 60 ปี จึงจะจ่ายหมด ยังไม่รวมหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่อยู่ระหว่างการสั่งให้หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว ยังไม่ถูกสั่งปิดกิจการ ลูกค้ายังเคลมได้ตามปกติ ขณะนี้บริษัทสินมั่นคงกำลังหาแนวทางความเป็นไปได้ในการแก้ไขสถานะเงินกองทุนให้กลับมาดั่งเดิมจากที่ติดลบอยู่ 300% แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

รวมถึงทางกองทุนประกันวินาศภัย ก็กำลังหาแนวทางในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นทางกระทรวงการคลังมีแนวคิดว่าจะออก Junk Bond เพื่อแก้ปัญหาให้กับกองทุนฯ และจากการประเมินความต้องการลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวของธุรกิจประกันภัยน่าจะมีราวๆ  12,000 ล้านบาท

รวมถึงจัดทำข้อตกลงระดับการให้บริการ หรือ SLA (Service Level Agreement)เปิดเผยเงื่อนไขในทุกกระบวนการทำงาน เช่น รถบางรุ่นหาอะไหล่ยาก ต้องใช้เวลานาน ก็ต้องบอกไว้ในเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมาการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบริการ

บริษัทที่ถูกร้องเรียนมากๆ จะเป็นดัชนีชี้วัดบ่งบอกว่าบริษัทนั้นๆ กำลังมีปัญหา จะเข้าไปจัดการทันที

สาม ผลักดันให้การประกันภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ของคนในชาติ “ประชาชนทําประกันภัย ด้วยความเชื่อมั่น บริษัทเติบโตอย่างมั่นคง ประเทศมีความมั่งคั่ง” ด้วยการทำให้เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และอยากเข้าถึง เพื่อเพิ่มอัตราการถือครองกรมธรรม์ของคนไทยให้สูงขึ้น ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานศึกษากรมธรรม์แต่ละประเภท ให้สามารถคุ้มครองดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงเชิงตะกอน

เปิดกว้างให้ภาคธุรกิจประกันภัย ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ภายใต้การจำกัดสัดส่วนการลงทุน และความเข้าใจในความเสี่ยง โดยคาดหวังว่าการลงทุนนั้นๆ จะต้องได้ทั้งคุณภาพและปริมาณควบคู่กันไปด้วย ซึ่งได้เริ่มเปิดให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ผ่อนคลายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของการลงทุน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบทวีคูณ

สี่ ยกระดับประกันภัยให้ก้าวล้ำทันสมัย โดยจะพยายามทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการระดับภูมิภาคอาเซียน การดึงงานสัมมนาประกันภัยระดับโลกเข้ามาจัดที่ไทย และส่งเสริมให้บุคลากรของคปภ.ไปให้ความรู้แก่บุคคลภายนอก ซึ่งในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการประเมินโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) การประเมินครั้งล่าสุดในปี 2561 สํานักงาน คปภ. ได้คะแนนในระดับที่ดีมาก โดยอยู่ในลําดับที่ 4 ของโลกและเป็นลําดับที 2 ของภูมิภาคนี้

ห้า การสร้างคนให้มีความสามารถอย่างโดดเด่น มีคุณภาพสูงและมีเป้าหมายเดียวกัน คือการขับเคลื่อนให้ OIC เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย โดยปรับแนวทางการทำงานเป็นทีม และ แบบเมทริกซ์ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขอความช่วยเหลือจากกันและกันได้ โดยไม่ต้องรอให้ออกคำสั่ง เพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว

“ตอนนี้ระดับรองเลขาธิการฯ มีการประชุมกันเอง 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ระดับผู้ช่วยฯ ระดับผู้อำนวยการ ก็จะมีการประชุมกันเองไม่มีใครเป็นประธาน”นายชูฉัตร กล่าว

นายชูฉัตร กล่าวว่า ที่สำคัญคือการสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อเตรียมเข้าแทนที่คนรุ่นเก่าที่จะต้องเกษียณ ให้การทำงานของ คปภ.เกิดความต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ซึ่งคัดจากพนักงานที่ต่ำกว่าระดับผู้อำนวยการที่มีผลการทำงานโดดเด่นหรือหัวกระทิขององค์กร เข้ามาฝึกอบรม ให้ความรู้ ในด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 39 คน และคนกลุ่มนี้ต้องไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนร่วมงานด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึง การดึงคนเก่งๆ จากนอกวงการเข้ามาร่วมงาน

บทเรียนจากโควิด

นายชูฉัตร กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยและคปภ.ได้เรียนรู้และบทเรียนด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยที่เกิดจากโรคอุบัติใหม่ บริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เกิดจากการใช้ความเสี่ยงเดิม ในสถานการณ์ใหม่ ทำให้เบี้ยไม่เพียงพอและเกิดการขาดทุนและล้ม

“ช่วงแรกของโควิด มีเพียง 2 สายพันธ์ เราก็ใช้ความเสี่ยง 2 สายพันธ์ ซึ่งแพร่ระบาดยากแต่ตายง่าย เข้าไปคำนวณเบี้ยประกันภัย ต่อมามีสายพันธ์ใหม่เกิดขึ้นอีก 5 สายพันธ์ ที่แพร่ระบาดง่าย ตายยาก แต่บริษัทประกันภัยยังใช้ความเสี่ยงเดิม และใช้เบี้ยเท่าเดิม แถมยังเพิ่มความคุ้มครองเข้าไปอีก ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็น”นายชูฉัตร กล่าว

นายชูฉัตร เชื่อว่า โรคอุบัติใหม่ต้องเกิดขึ้นอีกแน่ และประชาชนก็ยังต้องการความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการออกกรมธรรม์ใหม่ ด้วยการจำกัดจำนวนการขาย และมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด