HoonSmart.com>>บีโอไอ เผยมูลค่าการลงทุนที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน 8.46 แสนล้านบาท จะเริ่มทยอยลงทุนใน’68 เดินหน้าดึงผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ตั้งฐานการผลิตในไทยให้ได้ในปีนี้ คาดกลุ่มแรกเจรจาจบ 6 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าลงทุนหลายหมื่นล้านบาท
จากการพูดคุยกับ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทราบว่า ในปี 2568 นี้นักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน หรือ FDI มูลค่า 8.46 แสนล้านบาท เมื่อปี 2567 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งบริษัท มีผู้ร่วมทุนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มมีการลงทุนในปี 2568 นี้ ซึ่งจะเป็นการทยอยลงทุน จากที่ได้รับอนุมัติคำขอสิทธิลงทุนในปีที่แล้วทั้งหมด 1.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากปี 2566 โดยมูลค่าของการออกบัตร 8.46 แสนล้านบาทนั้นเพิ่มขึ้นถึง 72% เมื่อเทียบกับปีก่อน
v
ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 2,050 โครงการ เพิ่มขึ้น 51% เงินลงทุนรวม 832,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%
ปี 2568 จึงเป็นปีที่ดีของประเทศไทยในเรื่องของการลงทุนทางตรงในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ยิ่งเกิดสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ที่มีการคาดว่าจะยังคงอยู่ต่อไปและเข้มข้นขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจต่างๆ ยิ่งต้องรีบตัดสินใจย้ายฐานการผลิตใหม่ในปีนี้ ซึ่งไทยเป็นเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิต เพราะมีปัจจัยพื้นฐานรองรับพร้อมทำให้ตั้งโรงงาน และเริ่มต้นธุรกิจได้เร็ว เช่น มีนิคมฯ มีโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ไฟ ซัพพลายเชน มีกำลังคน ระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจจะสั้นกว่าไปลงทุนในประเทศอื่น
อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกล้วนส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่จะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมดิจิทัล 2.43 แสนล้านบาท 150 โครงการ,อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.31 แสนล้านบาท 407 โครงการ,อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 1.02 แสนล้านบาท 309 โครงการ,อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 8.76 หมื่นล้านบาท 329 โครงการ,อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 4.90 หมื่นล้านบาท 235 โครงการ
สำหรับ ปี 2568 บีโอไอ ยังคงเดินหน้าหานักลงทุนเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้จะดึงผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์เข้ามาลงทุนในไทยให้ได้ เพราะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และ ในอุตสาหกรรมพลังงาน และจะเป็นฐานการสร้างฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ตามมา โดยจะมีการเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 19–22 ก.พ. 2568 นำทีมโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะนำทีมบีโอไอไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น มีภาคเอกชนร่วมด้วย
นอกเหนือจากธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมใหม่ อย่าง พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ได้บริษัท อินฟินีออน ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับหนึ่งในเยอรมัน และมีส่วนตลาดอันดับหนึ่งของโลก มาตั้งโรงงานแล้วที่โครงการ อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ มูลค่าลงทุนหมื่นล้านบาท
ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาขั้นสุดท้ายกับผู้ผลิตแบตเตอรรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน 3-4 ราย ซึ่งดูแนวโน้มแล้วผลออกมาเชิงบวก คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อออกมาได้ภายใน 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีมูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เพราะแต่ละโครงการลงทุนมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท
ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยืนยันโอกาสทองของการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสต็อกที่ดินเหลือน้อยมากเป็นประวัติการ แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเข้ามาตามที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ถือว่าเข้ามากว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยปี 2568 จะเห็นการลงเสาเข็มเพื่อก่อสร้างโรงงานหลายร้อยแห่ง พื้นที่หลายหมื่นไร่
ตอนนี้ กนอ.เร่งเอาที่ดินออกให้หมด เพราะโอกาสมาแล้ว แต่ในพื้นที่อีอีซี ยังมีค้างอยู่ 40 โครงการ จากการที่ผู้พัฒนาที่ดิน อยู่ระหว่างการรวบรวมที่ดินเพื่อมาส่งมอบให้กับผู้จองที่เป็นผู้ลงทุนรายใหม่ ส่วนผู้ลงทุนเดิมที่ต้องการขยายพื้นที่ไม่เป็นปัญหา
ระหว่างนี้ก็ให้ผู้พัฒนาที่ดิน ทำมาสเตอร์แพลนในพื้นที่ การจัดผังการใช้พื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ไฟ การใช้เทคโนโลยี การใช้พลังงานสะอาด การพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวก การศึกษา ที่เป็นโซลูชั่น ของนิคมอุตสาหกรรมแนวใหม่ โดยทาง กนอ.จะนำโครงการไปจอยกับสิทธิของบีโอไอ ก่อนที่จะยื่นทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ถ้าผ่าน ก็สามารถตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้เลย ช่วยลดขั้นตอน ให้ทันกับโอกาสการย้ายฐานการผลิตมาไทย
สำหรับ ระยะเวลาการเตรียมการเรื่องต่างๆ ทั้งการจัดตั้งบริษัท สร้างโรงงาน และเปิดดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ซึ่งผู้ลงทุนต้องตัดสินใจในปีนี้ ถ้าทำให้ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุน และจัดตั้งนิคม จัดตั้งโรงงานได้เร็ว จะช่วยให้ไทยสามารถดึงนักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาในปีนี้ได้มากขึ้น และอุตสาหกรรมใหม่นี้จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ต้องติดตามกันว่าในปี 2568 นี้ ผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว 8.46 แสนล้านบาท จะมีการใช้เงินลงทุนจริงๆ เท่าไหร่ เพราะถ้าดิจิทัลวอลเล็ต ที่แจกเงินให้นำไปใช้ไปกินฟรีๆ กันคนละ 1 หมื่นบาท เป็นเงินร่วม 4.5 แสนล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจหรือจีดีพีได้รวม 1.3%-1.8% ตามที่กระทรวงการคลังบอก
การลงทุนทางตรง ถ้ามีการจ้างคนไทยทำงาน มีการใช้เหล็ก ใช้ปูน ใช้วัสดุก่อสร้าง ใช้เงินลงทุนในไทย น่าจะมีพลังในการกระตุ้นจีดีพีไทยให้โตได้หลายเท่า ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนแข่งขันได้ หากมีการร่วมทุนกับคนไทยในระดับที่เหมาะสม เกิดการส่งออกไปต่างประเทศ ไม่เบียดบังธุรกิจดั้งเดิมของคนไทยจนล้มตาย เกิดการถ่ายโอนความรู้ด้านต่างๆ ให้คนไทย เกิดการวิจัยและพัฒนาในประเทศ มีการจัดสรรทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ทำให้ประเทศไทยยังมีความหวังที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในอาเซียนได้
รายงานโดย วารุณี อินวันนา