TISCO ปี66 กำไร 7.3 พันลบ.โต1.1% -Q4 ลด 5%ตั้งสำรองเพิ่ม

HoonSmart.com>>”ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” (TISCO) เปิดผลงาน ปี 66 กำไร  7.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง1.1% จากปี 65 รายได้ดอกเบี้สุทธิโต 8.6% ส่วนที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 6.4% ตามธุรกิจตลาดทุน  ธุรกิจจัดการกองทุนไปได้ดี  ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลง  เฉพาะไตรมาสที่ 4 เทียบไตรมาส  3  กำไรลดลง 5%  จากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) แจงว่า ในปี 2566 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 7,302.62 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 9.12 บาทเพิ่มขึ้น 8.54 ล้านบาทหรือ 1.1%จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7,224.08 ล้านบาท กำไรหุ้นละ 9.02 บาท บาท และมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 17.2%

ส่วนกำไรเฉพาะไตรมาสที่ 4/2566 ทำได้จำนวน 1,781.66 ล้านบาท ลดลง 25.07 ล้านบาท หรือ 1.4%จากไตรมาส 4/2565 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิลดลง 92.82 ล้านบาท หรือ 5.0%

บริษัทฯมีกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานเฉพาะกิจการในปี 2566 จำนวน 6,684.14 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรายได้เงินปันผลและรายได้ค่าธรรมเนียมบริการแก่บริษัทลูกภายในกลุ่ม เนื่องจากดำเนินธุรกิจโฮลดิ้งมีที่มาของกำไรจากธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจตลาดทุน

ในปี 2566 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 1.1% สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ 8.6% ตามเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว 7.2% แม้ว่า ต้นทุนทางการเงิน ปรับเพิ่มขึ้นถึง 93.9% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด ประกอบกับการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 6.4% เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน โดยรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์อ่อนตัวลง 16.5% จากตลาดทุนที่ผันผวนรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL) นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวช้ากว่าคาดโดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าประกันภัย ที่ชะลอตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง

อย่างไรก็ดี ธุรกิจจัดการกองทุนสามารถกลับมาขยายตัวได้ 5.4% เป็นผลมาจากทั้งค่าธรรมเนียมพื้นฐานที่เติบโตตามสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร รวมถึง
การรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของธุรกิจจัดการกองทุน (Performance Fee)

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 8.7% จากแผนการลงทุนระยะยาวเพื่อการขยายตัวของธุรกิจในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลงจากปีก่อนหน้า และอยู่ในระดับต่ำ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย

กำไรสุทธิเฉพาะไตรมาส 4/2566 ลดลง 1.4%จากไตรมาส 4/2565 สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 17.0% เนื่องมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน ทั้งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงและการรับรู้ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงิน ประกอบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ดี รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% จากสินเชื่อที่ขยายตัว ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 5.4% ตามแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง

ขณะเดียวกำไรกำไรไตรมาสที่ 4 ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ประมาณ 5% จากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ด้านรายได้รวมจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 0.4% เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 0.2% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 0.8 % ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวได้ดี รวมถึงบริษัทมีการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของธุรกิจจัดการกองทุน (Performance Fee) มีจำนวน 51.39 ล้านบาท ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนอ่อนตัวลง ทั้งค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมพื้นฐานธุรกิจจัดการกองทุน และผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
เนื่องมาจากความผันผวนของตลาดทุน ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.0% จากค่าใช้จ่ายตามฤดูกาลที่เพิ่มขึ้น

บริษัท ฯ ดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์ความยั่งยืนและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญทั้ง การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ การบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบระมัดระวัง การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดูแลส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสู่สังคมผ่านโครงการต่างๆ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพพนักงานและสร้างองค์กรแห่งความสุข