HoonSmart.com>> “บลจ.อีสท์สปริง” ประเมินกรอบหุ้นไทยปีนี้ 1,270-1,350 จุด คาด 3 เดือนจากนี้ตลาดไม่สดใส แรงกดดันจากสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้านำเข้าไทย รอลุ้นฟันด์โฟลว์ไหลกลับครึ่งปีหลังรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิของรัฐบาลและภาคท่องเที่ยวหนุน พร้อมแนะนำ 4 กลยุทธ์ลงทุนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน ชูโอกาสลงทุน “หุ้นเอเชีย ด้านสหรัฐยังแกร่ง ส่วนดอกเบี้ยขาลงหนุนกองทุนตราสารหนี้ พร้อมลงทุนเน้นเสี่ยงต่ำในกลุ่มหุ้นเฮลธ์แคร์ช่วยกระจายความเสี่ยง

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาจากหลายปัจจัยทั้งจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน, แรงขายของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ,ความกังวลจากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ จึงเป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่ปัจจัยบวกยังได้รับปัจจัยสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวฟื้น นโยบายภาครัฐเบิกจ่าย ส่งผลให้ภาคการบริโภคปรับตัวดีขึ้นได้
“ตลาดหุ้นไทยเทรดอยู่บน Sentiment กับ Momentum ยังไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานจริงของตลาดหุ้น จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์มองกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ระดับ 96 บาท/หุ้น ระหว่างปีมีโอกาสที่จะปรับเป้าลงมาเหลือประมาณ 90 – 93 บาท/หุ้น และมอง P/E ที่น่าสนใจอยู่ระดับ 14 เท่า บนแนวรับดัชนี 1,219 จุด ที่มองเป็นแนวรับลึกและน่าจะเอาอยู่ถ้าไม่มีนโยบายทรัมป์ที่หนักเกินคาด จึงมองกรอบดัชนีปีนี้ที่ 1,270 – 1,350 จุด”นายบดินทร์ กล่าว
ส่วนประเด็นแรงขายของ LTF มองว่าเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาด แต่ปัจจัยหลักน่าจะมาจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติมากกว่า ซึ่งมองสองปัจจัยที่จะดึงโฟลว์ต่างชาติมาจากความมั่นใจของนักลงทุนต่อตลาดทุนไทย ซึ่งตอนนี้ปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นเริ่มนิ่งและความมั่นใจเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินเฟส 1-2 ที่ยังต้องใช้เวลา 3-6 เดือน ซึ่งดีมานด์จะส่งผ่านตัวเลขเศรษฐกิจช่วงกลางปีและคาดว่าจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม รวมทั้งหากภาครัฐฟื้น LTF กลับมาอาจไม่ได้ดันหุ้นได้มากนัก แต่จะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาด
นอกจากนี้นโยบายการเงินหากมีการลดดอกเบี้ยจะช่วยพยุงต้นทุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค จึงมองว่าเมื่อตัวเลขเศรษฐกิจจะค่อยๆ ดีขึ้น ภาคการใช้จ่ายเริ่มดีขึ้นจะสะท้อนที่ตัวเลขเศรษฐกิจและความมั่นใจจะเริ่มกลับมาช่วงกลางปี แต่ในช่วง 3 เดือนแรกภาพยังเป็นลบอยู่

ด้านนายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในปีนี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ในระดับปานกลางในช่วงครึ่งปีแรก 2568 โดยภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีนจะเป็นตัวแปรของการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมองว่าจากนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่จะสนับสนุนการเติบโตระยะสั้นและสนับสนุนแนวโน้มดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าในระยะกลาง รวมทั้งจะทำให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้นและอาจทำให้รอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดช้าลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมของเฟดอาจจะสูงขึ้น พันธบัตรอาจถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น และควรเน้นไปยังตราสารหนี้คุณภาพ
“ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ยังคงยากที่จะคาดเดาและหลายประเด็นอาจไม่ได้นำไปปฏิบัติทั้งหมด ความล่าช้าของนโยบายและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเงินเฟ้อและแนวโน้มของทิศทางดอกเบี้ยจะนำไปสู่ความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น ขณะที่ในเอเชียและตลาดเกิดใหม่มีความดึงดูดในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว และปัจจัยขับเคลื่อนในระยะยาวยังคงอยู่ เช่น การใช้จ่ายเงินทุนที่เพิ่มขึ้น การลดการปล่อยคาร์บอน และการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานน่าจะช่วยยกระดับรายได้ของบริษัทจดทะเบียน”นายยิ่งยง กล่าว
อย่างไรก็ตามมองสหรัฐฯ แนวโน้มเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคการบริการเติบโตมากกว่าภาคการผลิตคาดว่าภาพนี้น่าจะต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในครึ่งปีแรกสหรัฐฯยังเป็นผู้นำในตลาดทั่วโลก ยังมีปัจจัยสนับสนุน ขณะที่ตลาดอื่นๆ เศรษฐกิจยังไม่โดดเด่นเท่ากับสหรัฐฯ ตัวเลขล่าสุดอัตราการว่างงานสหรัฐฯอยู่ที่ 4% และเงินเฟ้อทยอยลง อยู่ในทิศทาง Soft Landing หรือ No Landing โดยต้องจับตาพลังขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ ปัจจุบันดอกเบี้ยสหรัฐยังสูงอยู่ที่ระดับ 4.25% ขณะที่เงินยังออมอยู่ในมันนี่มาร์เก็ตฟันด์ คิดเป็น 1 ส่วน 4 ของ GDP ได้เงิน 4% ต่อปี ของสัดส่วน 25% ปั๊มเงินให้ GDP 1% และปีก่อนตลาดหุ้นสหรัฐโดดเด่นผลตอบแทน 2 หลัก 20% จึงมอง 6 เดือนยังดูดี โดยตลาดจับตามุมมองของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดต่อการเข้ามาของทรัมป์
“โอกาสลงทุนตลาดเอเชีย-ตลาดเกิดใหม่”
สำหรับประเทศที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสการลงทุนในเอเชียและตลาดเกิดใหม่ ประกอบด้วย
จีน : ที่ยังมีมุมมองที่ดี แต่ยังคงระมัดระวังผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ แต่การประเมินมูลค่าหุ้นค่อนข้างถูกและมาตรการการกระตุ้นทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากความท้าทายจากภายนอกได้ รวมถึงมาตรการที่กระตุ้นภาคการบริโภค
อินเดีย : การบริหารจัดการเชิงรุกถือเป็นปัจจัยสำคัญท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโมเมนตัมของเศรษฐกิจของอินเดียที่ชะลอตัวลง และการประเมินมูลค่าตลาดที่ตึงตัว บริษัทในอินเดียยังคงค่อนข้างแข็งแรง โดย ROE กำลังดีขึ้นและอัตราส่วนหนี้สินกำลังลดลง การปรับฐานของตลาดในอินเดียในไตรมาส 4 ปี 2024 ทำให้ผู้ลงทุนมีจุดเข้าลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น หุ้นขนาดใหญ่มีราคาที่น่าสนใจมากกว่าหุ้นขนาดเล็ก
ญี่ปุ่น : การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจขยายวงกว้างไปยังหุ้นขนาดกลางถึงเล็ก ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์จากค่าจ้างที่สูงขึ้นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น คาดว่าการปฏิรูปองค์กรต่างๆ จะดำเนินต่อไป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลกำไรและราคาหุ้น และเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อบริษัทในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้า
อินโดนีเซีย : นโยบายสนับสนุนการเติบโตของรัฐบาลปราโบโวและมาตรการทางการคลัง คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างภาคสินค้าอุปโภคบริโภคและการเงิน การให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการประชาชนของรัฐบาล จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและสร้างโอกาสให้กับบริษัทที่จำหน่ายอาหารที่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา
เวียดนาม : บริษัทในกลุ่มการเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึง โลจิสติกส์ อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย
ประเทศไทย : แม้ตลาดหุ้นไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงในบริษัทจดทะเบียน และการขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แต่ตลาดไทยยังได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าปี 2567 กลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้และธุรกิจ Healthcare ซึ่งเป็นกลุ่มเชิงรับคาดว่าจะเป็นกลุ่มได้รับประโยชน์จากความผันผวนของตลาด
“มุมมองของกลุ่มอีสท์สปริงต่อตลาดหุ้นไทย ยังรอดูผลของการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จากการที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯอยู่อันดับ 10 ของโลก ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯมากกว่าส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ โดยไทยพึ่งพาสหรัฐฯ แง่การส่งออกมากกว่าจีน ยังถูกเงื่อนนโยบายการค้าระหว่างประเทศกับสหรัฐฯมาก”นายยิ่งยง กล่าว
นอกจากนี้ต่างชาติมองการเมืองไทยไม่ได้บวกมากนักและในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น ยังมีทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่าไทย เช่น เวียดนาม เป็นอีกตลาดที่จับตามองจากผลกระทบการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ว่าไทยจะได้ประโยชน์ทางอ้อมหรือไม่ ใช้ไทยเป็นฮับหรือศูนย์กลางได้หรือไม่ยังต้องติดตาม โดยมอง 3-6 เดือนยังไม่เห็นปัจจัยที่ต่างชาติจะเปลี่ยนมุมมองของไทย
“ด้วยภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องมีวินัยในการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk-Adjusted Returns) โดยกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ การลงทุนแบบผสมหลายสินทรัพย์ (Multi – Asset) และการลงทุนที่เน้นรายได้จากเงินปันผล จะช่วยลดความเสี่ยงด้านลบและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว นอกจากนี้ การคว้าโอกาสจากเทรนด์ที่มาแรงจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่เทคโนโลยีสีเขียวเป็นโอกาสการลงทุน ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีในเอเชียเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าสำหรับการลงทุนใน AI” นายยิ่งยง กล่าว
“4 ธีมลงทุนฝ่าความผันผวน”
ด้านนายบดินทร์ เปิดเผยธีมการลงทุนที่น่าสนใจและแนะนำในปี 2568 ประกอบด้วย 4 ธีมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ในปีนี้ได้แก่
1. โอกาสในเอเชีย โดยคาดว่ากองทุนเอเชียที่มีความผันผวนต่ำจะเป็นโอกาสในการลงทุน โดยมองว่าประเทศอินเดียยังคงมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงการขยายตัวของประชากร และค่าเฉลี่ยแรงงานที่อายุไม่มากซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อ ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น โดยกองทุนที่แนะนำได้แก่ ES-JPNAE ES-INDAE และ ES-ALOVE (ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายในวันที่ 14-21 กุมภาพันธ์ 2025)
2. การเติบโตที่มีศักยภาพ: คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวได้ท่ามกลางความผันผวน และคาดว่ากำไรจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2025 กองทุนที่แนะนำคือ ES-USBLUECHIP
3. การเข้าสู่โหมดลดอัตราดอกเบี้ย : คาดว่าเฟดจะยังคงลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลัง และการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก็ตาม แต่เมื่อรวมกับผลตอบแทนที่น่าสนใจ เราเชื่อว่าตราสารหนี้คุณภาพสูงและกลยุทธ์การปรับอายุตราสาร(Duration)ที่ยืดหยุ่นจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ กองทุนที่แนะนำคือ ES-GINCOME
4. การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ : ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความผันผวน การมีกองทุนเชิงรับในพอร์ตเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างสมดุลให้กับการลงทุน โดยกองทุนที่แนะนำคือ ES-HEALTHCARE
“ชูจัดพอร์ตลงทุนตามระดับความเสี่ยง”
สำหรับแนวทางการจัดพอร์ตในปีนี้ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยมากแนะนำลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 70% กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 30% นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 45% กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 30% กองทุนหุ้นต่างประเทศ 25%
นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง แนะนำลงทุน กองทุนหุ้นต่างประเทศ 45% กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 25% กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 20% กองทุนหุ้นไทย และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างละ 5% นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก แนะนำลงทุนกองทุนหุ้นต่างประเทศ 65% กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 25% กองทุนหุ้นไทย และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างละ 5%
ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากที่สุด แนะนำลงทุนกองทุนหุ้นต่างประเทศ 80% กองทุนหุ้นไทย และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างละ 10%
อ่านข่าว
“อีสท์สปริง”ปลื้มปี 67 โต 14% เหนืออุตสาหกรรม-ปี 68 รุกเสิร์ฟกองทุนตอบโจทย์-จัดพอร์ตฝ่าผันผวน