PTTEP ปี’67 ฟาดกำไร 78,824 ล้านบ. ตั้งงบลงทุน 2.61 แสนล้านบาท

HoonSmart.com>>”ปตท.สผ.” (PTTEP) ชูผลงานปี’ 67 กำไรสุทธิ 78,824 ล้านบาท โต 2.76% รายได้รวม 327,415 ล้านบาท ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 6% นำส่งรายได้เข้ารัฐ 50,450  ล้านบาท ปี 68 ตั้งเป้าลงทุนกว่า 2.61 แสนล้านบาท สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง บอร์ดไฟเขียวจ่ายเงินปันผลอีก 5.125 บาท ขึ้น XD 25  ก.พ. นี้ รวมทั้งปีแจก 9.625 บาท เป็นเงิน 38,211 ล้านบาท

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปี 2567 มีกำไรสุทธิ 78,824 ล้านบาท  กำไรหุ้นละ 19.86 บาท ดีขึ้นจำนวน 2,118 ล้านบาท คิดเป็น 2.76%  จากปีก่อนที่ทำกำไรได้ 76,706 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 18.89 บาท

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทมีความก้าวหน้าสำคัญในการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยสามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน) ขึ้นมาสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และยังคงรักษากำลังการผลิตของโครงการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ปตท.สผ. ได้เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 10%ในโครงการสัมปทานกาชา (Ghasha Concession Project) ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยมีแผนจะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2568 นอกจากนี้บริษัทยังได้รับอนุมัติแผนพัฒนาโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 เมื่อเดือนก.ย.ในปีที่ผ่านมา จากหน่วยงานรัฐของอาบูดาบีแล้ว คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในปีนี้

ปตท.สผ. ยังได้เข้าซื้อหุ้นทุน (Share Capital) ในสัดส่วน 34% ในบริษัท E&E Algeria Touat B.V. คาดว่าการซื้อขายจะเสร็จสิ้นในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ ปตท.สผ. ถือสัดส่วนการลงทุนทางอ้อมในโครงการทูอัท (Touat Project) ที่ 22.1% โครงการนี้เป็นโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติบนบกในประเทศแอลจีเรีย มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 435 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะสามารถเพิ่มรายได้ ปริมาณการขาย และปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้กับบริษัทได้ทันทีเมื่อการซื้อขายเสร็จสิ้น

ด้านการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ปตท.สผ. ได้พัฒนาโครงการ DigitalX ซึ่งเป็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมดิจิทัล (Digital Solutions) เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning (ML) ที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลของห่วงโซ่ธุรกิจอย่างครบวงจร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ อีกทั้ง บริษัทยังได้เริ่มพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูล (Data Foundation) ให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งองค์กร โดยมีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมกับได้พัฒนา X.brain ซึ่งเป็น AI Engine ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ เพื่อนำมาช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานของบุคลากรให้สำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทุกระดับชั้นภายในองค์กรให้มีความพร้อมและมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ (Digital Citizens) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านต่างๆ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และลดระยะเวลาการทำงานลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในด้านการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น ปตท.สผ. สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมตั้งแต่ปี 2563 ได้ประมาณ 4.08 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผ่านการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน และการคัดเลือกโครงการที่มีความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเข้ามาใน Portfolio เป็นต้น รวมทั้งยังได้ร่วมฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่า 200,000 ไร่ ภายในปี 2573 เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ในปี 2567 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ จำนวน 50,450 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐยังได้รับส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เป็นรายได้ทางตรงจากการผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย

สำหรับผลประกอบการในปี 2567 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 327,415 ล้านบาท (เทียบเท่า 9,273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.)) โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 488,794 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 46.78 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

“ในปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 78,824 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,227 ล้านดอลลาร์ สรอ.) โดยกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน เป็นส่วนสำคัญที่บริษัทจะนำมาใช้ในการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมจากโครงการต่าง ๆ ตามแผนงานปี 2568 รองรับความต้องการการใช้พลังงานในประเทศต่อไป”

ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2568 ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 261,940 ล้านบาท (เทียบเท่า 7,819 ล้านดอลลาร์ สรอ.) เงินส่วนใหญ่มาจากกระแสเงินสดตามผลกำไรในปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียม รองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้ง ลดภาระการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ปตท.สผ. จะนำงบประมาณไปใช้ในการดำเนินแผนงานในการรักษาและการเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยจากโครงการ G1/61 โครงการ G2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเร่งพัฒนากลุ่มโครงการสำรวจในประเทศมาเลเซีย (Malaysia Greenfields) โครงการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโมซัมบิก ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน ไปพร้อมกับแผนงานเร่งการสำรวจในประเทศไทย และมาเลเซีย รวมถึงการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังได้สำรองงบประมาณสำหรับการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เช่น พลังงานลมนอกชายฝั่ง และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว

ทางด้านคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ 9.625 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิที่ 49% รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 38,211 ล้านบาท ได้จ่ายระหว่างกาล 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 4.50 บาทต่อหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 5.125 บาทต่อหุ้น จะจ่ายในวันที่ 22 เม.ย. 2568 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2568 ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินปันผลดังกล่าว จะถูกนำส่งให้กระทรวงการคลังผ่านการถือหุ้นในบริษัท ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท.สผ. เพื่อการพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน