HoonSmart.com>>คลัง จ่อออกสเตเบิลคอยน์มีพันธบัตรรัฐบาลหนุนหลัง 1 หมื่นล้านบาท เปิดโบรกเกอร์ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดึงเงินลงทุนที่นอนแช่เฉยๆ หลายแสนล้านบาทออกมาเป็นสภาพคล่องให้ตลาดทุน เร่งเข็นกฎหมายเพิ่มอำนาจสอบสวนของก.ล.ต.ภายในปีนี้ เพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย-เทศ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ” ว่า ปี 2568 สิ่งที่รัฐบาลอย่างเห็นคือ การทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีสินค้าที่หลากหลาย เชื่อมโยงกับตลาดทุน ตลาดเงินที่เป็นสินทรัพย์ในโลกเก่าๆ ได้ ควบคู่กับการคุ้มครองผู้ลงทุน สร้างผู้ประกอบการคุณภาพ การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นและกลับคืนมา
ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) จะต้องเชื่อมโยงแผนกับสิ่งที่รับบาลอยากเห็น โดย ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องมีสินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางกระทรวงการคลัง จะมีการมอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดูแลเรื่องการออกสเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งที่มีพันธบัตรรัฐบาลหนุนหลัง เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนได้ และเพิ่มสภาพคล่องให้เกิดขึ้นในตลาดพันธบัตรรัฐบาล
ทั้งนี้ แผนการออกครั้งแรกจะมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท ให้มีอัตราส่วน 1 Stablecoin เท่ากับ 1 บาท ภายใต้วงเงินพันธบัตรที่รัฐบาลมีการออกเป็นปกติอยู่แล้วในทุกปี เป็นการแตกพันธบัตรออกมาเป็นหน่วยย่อยให้คนที่ไม่สามารถลงทุนได้ในช่วงที่ออกขายครั้งแรกสามารถลงทุนได้ ขายผ่านแพล็ตฟอร์มเดิมของรัฐบาลที่มีอยู่แล้ว และแพล็ตฟอร์มใหม่ที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านค้า
“พันธบัตรรัฐบาล ได้รับความเชื่อถือสูงมากจากนักลงทุนอยู่แล้ว เดิมพอออกมาจะขายให้กับสถาบัน ในส่วนรายย่อยซื้อแล้วก็เก็บไว้เฉยๆ ต้องการที่จะทำให้ 2 สินทรัพย์ และ 2 ตลาดเกิดการเชื่อมต่อกัน เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนมือพันธบัตรที่ถือไว้ได้ง่าย โดยคนที่ลงทุนในพันธบัตรจริงก็ยังสามารถได้รับดอกเบี้ยอยู่ แทนที่จะเก็บพันธบัตรไว้เฉยๆ และ เป็นแผนการเก็บออมที่อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยจะขายผ่านดิจิทัลแพล็ตฟอร์มเดิมที่มีอยู่แล้ว และมีแพล็ตฟอร์มใหม่ในการเชื่อมต่อกัน”นายพิชัย กล่าว
ดึงโบรกเกอร์ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
นายพิชัย กล่าวว่า มาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักลงทุนในด้านสินทรัพย์ดิจิทัลได้ จะต้องมีผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีความเต็มใจและพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบ สามารถคุ้มครองทรัพย์สินของนักลงทุนได้ ซึ่งมองว่าบริษัทหลักทรัพย์ หรือ โบรเกอร์ มีคุณสมบัติพร้อม เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่แล้ว มีฐานลูกค้าอยู่ในมือพร้อม และมีสินทรัพย์ทีค้างอยู่รวมกันหลายแสนล้านบาทโดยที่ไม่ได้ทำอะไร
แม้สินทรัพย์จะแตกต่างกัน คือมีการทำธุรกิจหลักทรัพย์ในรูปแบบดั้งเดิม หรือ ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบใหม่ แต่นักลงทุนก็เป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรายย่อย นักลงทุนสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีเงินทุนมาจากแหล่งเดียวกัน ถ้าทำทั้ง 2 ธุรกิจพร้อมกัน จะเป็นการเชื่อม 2 ตลาด 2 สินทรัพย์ได้อย่างไม่มีรอยต่อ จะทำให้การเพิ่มสภาพคล่องในตลาดทำได้เร็วยิ่งขึ้น
“อยากเห็น บล.เข้ามาเป็นผู้ทำ Digital Asset โดยไม่ต้องไปจัดตั้งบริษัทใหม่ แล้วปรับให้เหมาะสมกับนักลงทุน เพราะบล. เป็นผู้ที่มีความรู้ดี มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว มีความคุ้นเคยกับกฎระเบียบของก.ล.ต. ถ้ามาทำ Digital Asset จะทำให้ได้สปีดของการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดที่เร็วขึ้นแทนที่จะเสียเวลาไปกับการเริ่มต้นใหม่”นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า ก.ล.ต.ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลส่งเสริมผู้ประกอบการ และการปกป้องคุ้มครองนักลงทุน รวมไปถึงการจัดหมวดหมู่สินทรัพย์ดิจิทัล การหาวิธีการแปลงหลักทรัพย์ให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหลักประกันหนุนหลัง ที่ยังมีความล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขันที่พัฒนาทีหลังแต่ไปไกลแล้ว ทั้งๆ ที่ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่มีกฎหมายด้านสินทรัพย์ดิจิทัลออกมา
ดึงผู้ประกอบการตั้งฐานในไทย
นอกจากนี้ การที่ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน จำเป็นต้องมีผู้ประกอบการในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ โดยจะชักชวนสถาบันการเงินจากต่างประเทศย้ายฐานปฏิบัติการมาที่ไทย และดึงสำนักงานระดับภูมิภาคมาตั้งที่ประเทศไทย ซึ่งแน่นอนจะต้องได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจต้องใช้เวลาพอสมควร
แต่เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในเฟสที่ 1 จะเป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือ Non-resident ขายให้กับลูกค้าต่างประเทศ ไม่ให้ขายให้กับลูกค้าไทย ฉะนั้นสามารถใช้กฎหมายประเทศไหนก็ได้ เพียงแต่มีการตั้งสำนักงานที่ไทย โดยคาดหวังว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมาช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กที่จบใหม่ในไทย ได้เห็น ได้เรียนรู้จากสินค้าทางการเงินที่ทำนอกประเทศ และในระยะยาวจะสามารถให้ขายในประเทศไทยได้
รวมถึง อยากเห็นบริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเป็นที่แรก ที่ผ่านมามีเข้ามาจดทะเบียนแบบ Dual Listing ที่จะต้องทำกระบวนการให้สามารถดึงดูดบริษัทต่างชาติเหล่านี้เข้ามา รวมถึงการดึงบริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ กลับมาเข้าตลาดหุ้นไทย
เพิ่มอำนาจสอบสวนให้ก.ล.ต.ในปีนี้
นายพิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันตกอยู่ในสภาพเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก คือ อยู่ในช่วงของการเฝ้ารอและติดตาม หรือ Wait & See ที่กำลังรอดูผลนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทำไปแล้ว และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในด้านการดึงเงินลงทุนทางตรงนั้นมีนักลงทุนที่ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนมูลค่าเงินลงทุนรวม 8 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องดูว่าจะมีการลงทุนในปี 2568 เท่าไหร่ การสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจ เป็นสิ่งแรกๆ ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น ที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ด้วยของจริง ถ้าทำให้นักลงทุนมองเห็นภาพในอนาคตชัดขึ้นและเห็นว่าอนาคตไทยดี ก็จะกลับมา
ในส่วนของตลาดทุนนั้น แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.ปี 2568 จะมาตอบโจทย์การสร้าง Trust & Confidence ที่ได้เพิ่มอำนาจกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ลงโทษผู้กระทำผิดได้รวดเร็ว โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบสูง (high impact) รวมถึงการขยายอำนาจความรับผิดชอบไปถึงสำนักงานตรวจสอบบัญชี จากเดิมที่หยุดความรับผิดชอบอยู่ที่ผู้สอบบัญชี เพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต.สามารถนำคนที่กระทำความผิดกลับมารับโทษได้ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม
เร่งเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันสินเชื่อของผู้ถือหุ้นให้เร็ว โดยอย่าได้กลัวเรื่องของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากสร้างความเสียหายในวงกว้าง ที่จะต้องเร่งสรุปว่าจะมีสัดส่วนเท่าไหร่ ถึงให้เปิดเผยข้อมูล
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. คาดว่า การจัดทำเกณฑ์การจำนำหุ้นจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ และการดำเนินการด้าน Trust & Confidence ยังมีเป้าหมายสำคัญคือ ความยุติธรรม (justice) ซึ่งต้องไม่ล่าช้า โดยปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ทำให้คดีที่คั่งค้างสามารถดําเนินการได้เร็วขึ้นจากปี 2566 อย่างชัดเจนถึง 3 เท่า และเชื่อว่าอนาคตจะยังพัฒนาความเร็วขึ้นไปได้อีก
ศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568 – 2570 มีเป้าหมายหลัก 5 ด้าน ได้แก่
1.การสร้างความเชื่อมั่น (Trust & Confidence) 2.เป็นแรงขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology) 3.ตลาดทุนเป็นกลไกสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Market) 4.ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Long-term Investment) 5.ศักยภาพในการดำเนินการตามพันธกิจ (SEC Excellence) โดยร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความสมดุลและสอดรับกับบริบทของประเทศ
“เป้าหมายทั้ง 5 ด้าน เป็นเป้าหมายที่ยกต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา เพราะยังสอดคล้องกับพันธกิจของ ก.ล.ต. ทั้งด้านการกำกับดูแลและการพัฒนา แต่ในปีนี้มีการปรับน้ำหนักเป้าหมายในแต่ละด้านให้สมดุลกันมากขึ้น เพื่อให้แผนงานมีความต่อเนื่องและสอดรับระหว่างเป้าหมายแต่ละด้านได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว