EXIM BANK คาดการค้าโลกฟื้นตัวหนุนส่งออกไทยปี 67 แนะผู้ประกอบการปรับตัวรับกระแสเศรษฐกิจสีเขียว

HoonSmart.com>>แม้ตัวเลขส่งออกล่าสุดของไทยในเดือนพฤศจิกายนจะขยายตัวได้ 4.9% เติบโตเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แต่หากพิจารณาภาพรวมในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกไทยยังคงหดตัว 1.5% และสุ่มเสี่ยงที่ตัวเลขทั้งปีจะติดลบ 1-2% จากปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ทิศทางดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้นจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งฉุดให้เศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบตัวเลขการส่งออกของไทยกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกันจะพบว่า แม้การส่งออกไทยจะหดตัวแต่ก็ยังติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนามซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกปี 2566 การส่งออกติดลบ 7.1% จีนติดลบ 5.8% อินเดียติดลบ 5.4% และอินโดนีเซียติดลบ 12.1% สะท้อนว่า ภาพรวมของภาคส่งออกไทยยังมีความยืดหยุ่นรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ดีพอสมควร

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากการติดตามแนวโน้มการส่งออกโดยใช้ EXIM INDEX หรือดัชนีชี้นำการส่งออกของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในปี 2567 คาดการณ์การส่งออกจะขยายตัวได้ราว 4% จากปัจจัยบวก ได้แก่ การค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเนื่องจากสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าการค้าโลกจะเติบโตจาก 0.8% ในปี 2566 เป็น 3.3% ในปี 2567
“สินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกได้เพิ่มเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก คือ สินค้าเกษตรและอาหาร เครื่องใช้สำหรับเดินทางและในโรงแรม สินค้าดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแผงโซลาร์ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เป็นต้น” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ กล่าวว่า หากให้นิยามของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คือ “เหนื่อย แต่มีความหวัง” หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกคนต่างหวังว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติแต่กลับกลายเป็นเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มคู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น อีกทั้งปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้กติกาการค้าโลกเปลี่ยนใหม่หมด เกิดโมเดลการพัฒนาใหม่ ๆ ขึ้น เช่น เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) มีการนำเอาหลักการ ESG มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาและระมัดระวังเนื่องจากความเสี่ยงในตลาดโลกยังมี คือ ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนที่จะผันผวนไปตามสถานการณ์โลก แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอาจจะมีต่อเนื่อง การเลือกตั้งผู้นำของประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐฯ รัสเซีย และอินเดีย การยืดเยื้อของปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะทำให้ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก

“ในปี 2567 มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวัง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มาตรการเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายประเทศได้เตรียมออกบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกรวมแล้วราว 18,000 มาตรการ โดยในช่วงที่ผ่านมา (ปี 2553-2564) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 12% ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ละรายย่อย รวมทั้งที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทั่วโลกต้องปรับตัวมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวและความยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ มองว่า ผลจากการเพิ่มระเบียบการค้าใหม่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงแรกไม่มากนัก แต่ในระยะยาวจะส่งผลมาก เพราะในช่วงแรกระเบียบการค้ายังบังคับใช้กับสินค้าไม่กี่กลุ่ม แต่ในที่สุดแล้วจะขยายไปยังกลุ่มสินค้าที่หลากหลายทั้ง Supply Chain ตลอดห่วงโซ่การส่งออกด้วย ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่เร่งปรับตัว จะลำบากในอนาคต

สำหรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากในขณะนี้ คือ การเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) รวมทั้งเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศไม่ให้เสียเปรียบผู้ผลิตจากต่างประเทศที่มาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดน้อยกว่า โดยเฉพาะมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) กับสินค้า 6 ประเภท ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน ที่สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้เฟสแรกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ CBAM ต้องเริ่มจ่ายภาษีคาร์บอนผ่านการจ่ายค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate)

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Products Regulation : EUDR) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาด EU โดยครอบคลุมสินค้าโกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ไม้และกระดาษ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ วัวและผลิตภัณฑ์ ถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์บางชนิดจากสินค้าเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และผู้ประกอบการ SMEs ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการเหล่านี้ทางผู้ประกอบการรายใหญ่มีความพร้อมที่จะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าผู้ประกอบการ SMEs ที่จะต้องยกระดับขึ้นไปสู่การเป็น “SME Green Exporters” ตอบโจทย์ Sustainability ให้เป็นไปตามกฎระเบียบและบริบทใหม่ของโลกที่ล้วนมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain ของบริษัทขนาดใหญ่จะต้องปรับตัวตามเพื่อไม่ให้หลุดไปจากห่วงโซ่การผลิต เนื่องจากมีโอกาสสูญเสียโอกาสทางการตลาดไปให้คู่แข่งในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโลกสีเขียว EXIM BANK พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนผ่านการให้สินเชื่อและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปหักลบกับมลพิษที่ปล่อย โดยธนาคารวางเป้าหมายจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571