EXIM BANK รุกพัฒนา Climate Finance หนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสีน้ำเงิน

HoonSmart.com>>การเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Finance เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรการเงินไปสู่การสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ทุกขั้นตอนของวงจรการเงิน ตั้งแต่การระดมทุน การลงทุน ไปจนถึงการกำกับดูแล ปัจจุบันการเงินเพื่อความยั่งยืนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า สะท้อนจากมูลค่าการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนของโลกที่เพิ่มขึ้นจากเพียง 9.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 มาแตะระดับ 1.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา หรือขยายตัวเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 40%

ในบรรดาผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน พันธบัตรสีเขียวหรือ Green Bond เป็นเครื่องมือที่นิยมมากที่สุดในการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาการออก Green Bond ทั่วโลกได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนของโลกทั้งหมด

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้แคบลงมาเฉพาะการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Finance จะพบว่า โลกยังมีความต้องการการสนับสนุนทางการเงินในด้านดังกล่าวอีกมาก เนื่องจากค่าเฉลี่ยของจำนวนเงินที่มีความเกี่ยวข้องกับ Climate Finance ของโลกในปัจจุบันยังอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งต่ำกว่ารายจ่ายสำคัญในด้านอื่นๆของโลก อาทิ รายจ่ายทางทหารของโลกที่มีมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้นทุนการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกที่มีมูลค่า 7.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายจ่ายการคลังของโลกในช่วง COVID-19 ซึ่งอยู่ที่ 11.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่สำคัญที่สุดตัวเลข Climate Finance ดังกล่าวยังคงต่ำกว่าการประเมินความต้องการทางการเงินเพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เฉลี่ย 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือต่ำกว่าอยู่ราว 6 เท่าตัว โดยความต้องการทางการเงินดังกล่าวเป็นการประเมินการลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าการลงทุนของโลกเพื่อป้องกัน Climate Change ในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ หากพิจารณาประเทศปลายทางของ Climate Finance ดังกล่าว จะพบว่า กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change 10 อันดับแรกของโลก (ไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก) ได้รับเงินดังกล่าวเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่ารวม 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่าประเทศดังกล่าวมีการลงทุนที่จะช่วยแก้ปัญหา Climate Change เพียง 2% เมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งโลก

สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐและเอกชนทั่วโลกตระหนักและปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตที่สุ่มเสี่ยงจะรุนแรงขึ้นในอนาคต โดย Climate Policy Initiative ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านการเงินและนโยบายเกี่ยวข้องกับ Climate Change ที่สำคัญของโลก ได้ประเมินผลกระทบรวมจาก Climate Change ในช่วงปี 2568-2643 (รวม 75 ปี) ว่าจะความเสียหายต่อผลผลิตเกษตร ภัยธรรมชาติ สุขภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง คิดเป็นมูลค่าถึง 1,062 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในกรณีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และมูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 2,328 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีที่การแก้ปัญหา Climate Change ล้มเหลว (อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 3.0 องศาเซลเซียส)

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหา Climate Change ให้ประสบผลสำเร็จภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน จำเป็นต้องทำงานสอดประสานกันเปรียบเสมือนมือสองข้างที่ช่วยกันทำให้โลกเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีภาคธนาคารเป็นมือที่มองไม่เห็น หรือ Invisible Hand อยู่เบื้องหลัง โดยธนาคารจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการมุ่งไปสู่การทำธุรกิจที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการให้เงินทุน (Sustainable Finance) โดยผู้ประกอบการรายใดที่สามารถดำเนินธุรกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนก็จะได้รับเงินทุนไปขยายกิจการ

ทั้งนี้ EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ที่มีเจตนารมณ์แน่วแน่และเป้าหมายชัดเจนที่จะเดินหน้าสู่การเป็น Green Development Bank” เต็มรูปแบบ มุ่งมั่นที่สร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งความยั่งยืนเสมอมา โดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา EXIM BANK มีบทบาทอันโดดเด่นในการเป็นสถาบันการเงินผู้จุดประกายและนำพาผู้ประกอบการไทยไป ปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม และสปป.ลาว ราว 400 โครงการกำลังการผลิตกว่า 8,800 MW คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อกว่า 68,600 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนมากกว่า 100 ล้านตัน และสร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียว (Green Finance) ทั้งในฝั่งของการระดมทุนด้วย Green Bond มูลค่า 5,000 ล้าน บาท และ SME Green Bond มูลค่า 3,500 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อใน รูปแบบใหม่ ๆ เช่น Solar Orchestra ที่ไม่เพียงให้เงินทุน แต่ยังช่วยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนคาร์บอน เครดิตแก่ผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้ง Ecosystem ของการสร้างพลังงานสะอาด รวมถึง สินเชื่อ Green Start สำหรับคนตัวเล็กที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว และ Solar D-Carbon Financing

ยิ่งไปกว่านั้น EXIM BANK ได้จัดทำ Green Accounting การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐานสากล รวมถึงเดินหน้าสู่องค์กรสีเขียว ลดมลภาวะ ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นผ่านหลาย กิจกรรม เช่น การเปลี่ยนไฟในอาคารเป็นระบบ Sensor เปิด-ปิดอัตโนมัติการใช้ Solar Rooftop บริเวณโรงอาหาร มีนโยบายที่จะเปลี่ยนรถส่วนกลางและรถประจำตำแหน่งให้เป็นรถ EV ในอีก 10 ปี ข้างหน้า การนำขยะมารีไซเคิล

นอกจากผลงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอันเป็นที่ประจักษ์ของ EXIM BANK ตลอดช่วงที่ผ่านมา ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2567 ธนาคารมีแผนจะเดินหน้าต่อยอดพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ อีกหลายมิติ เช่น Sustainability Linked Loan (SLL) สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสำหรับดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้าน ESG ขณะเดียวกัน ยังมีแผนจะออกพันธบัตร Blue Bond เพื่อนำเงินที่ระดมได้มาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ

พร้อมกันนี้ EXIM BANK จะเร่งพัฒนา Green Finance ให้ครอบคลุม Scope 1-2-3 อย่างต่อเนื่อง (Scope 1 : คาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธุรกิจโดยตรง Scope 2 : คาร์บอนที่เกิดจากพลังงานที่ธุรกิจซื้อมาใช้ในการผลิต Scope 3 : คาร์บอนที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยตรง แต่เกิดจาก Stakeholder ที่เกี่ยวข้อง เช่น Suppliers โดย EXIM BANK ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน Green Portfolio และที่เกี่ยวเนื่องจากราว 30% ในปัจจุบันให้เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571 เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและธุรกิจไทยไปพร้อมกันบนพื้นฐานของความยั่งยืน

“โลกเราในปัจจุบันยังมีเงินสีเขียวและสีน้ำเงินที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลไม่มากพอ สิ่งที่ EXIM BANK มุ่งมั่นจะทำต่อในปีหน้า คือ การพัฒนา Green Finance ให้ครอบคลุม Scope ต่าง ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน เราจะเริ่มออกไปในน่านน้ำใหม่ ๆ อย่าง Blue Finance ผ่านการออกพันธบัตรสีน้ำเงิน หรือ Blue Bond เพื่อนำเงินมาส่งเสริมโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ โดย EXIM BANK มุ่งเป็นแรงบันดาลใจให้หน่วยงานพันธมิตร รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่และดีกว่าเดิมไปด้วยกัน” ดร.รักษ์ กล่าว