คอลัมน์ความจริงความคิด : ประกันสุขภาพ เรื่องจำเป็นยุคสังคมคนสูงอายุ? ตอนที่ 2

โดย…สาธต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เมื่อแก่ ก็มักจะเจ็บตามมา ยิ่งอายุยาวเท่าไร โอกาสเจ็บป่วยมาก และ นาน ก็มีมากขึ้น ภาวการณ์เจ็บป่วยของผู้สูงอายุมีแนวโน้มของจำนวนโรคที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจอนามัย และสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นว่าในกรณีของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลุ่มคนที่มีอายุสูงขึ้นมักมีจำนวนโรคมากขึ้นตามไปด้วย กล่าวคือกลุ่มคนอายุ 61 ปีขึ้นไปที่มีจำนวนโรคตั้งแต่ 2-5 โรคมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 49 ที่สำคัญก็คือ คนกลุ่มนี้จะต้องใช้ชีวิตที่เป็นโรคต่อไปอีกกี่ปี

ข้อมูลจากกรมอนามัยโลก เมื่อ ปี2559 ชายไทยจะมีช่วงอายุที่มีปัญหาสุขภาพประมาณ 7.8 ปี ส่วนหญิงไทย จะมีช่วงอายุที่มีปัญหาสุขภาพประมาณ 9.5 ปี เป็นช่วงเวลาที่ค่ารักษาพยาบาลจะแพงที่สุดในชีวิต แต่ก็เป็นช่วงที่เราไม่มีรายได้เช่นกัน เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

สัดส่วนจำนวนผู้ป่วยสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำแนกตามช่วงอายุและจำนวนโรค ปี พ.ศ. 2558

โอกาสเป็นโรคมากขึ้น ผู้สูงอายุใช้สวัสดิการอะไร

“การจัดสวัสดิการสังคมด้านสุขภาพอนามัยแก่ผู้สูงอายุในประเทศไทย ถือเป็นสิทธิของพลเมืองไทยทุกคน” ผู้สูงอายุไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขผ่าน 3 กองทุนสุขภาพหลักของรัฐ คือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง โดยแบ่งตามสัดส่วนสวัสดิการที่ผู้สูงอายุไทยมี ดังนี้

ซื้อประกันสุขภาพเอง 10 ล้านคน
สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 5 ล้านคน
กองทุนประกันสังคม 12 ล้านคน
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 40 ล้านคน
ที่มา กรมอนามัย 2563

จากสวัสดิการที่มี ผู้สูงอายุไทยใช้สิทธิบริการทางการแพทย์ตามสวัสดิการที่มีหรือไม่ จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า ในปี 2562 ผู้สูงอายุไทย ใช้สิทธิบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ผ่าน

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 81
สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ร้อยละ 17
สิทธิอื่นๆ ร้อยละ 2

จากปัญหาสังคมคนสูงอายุ TDRI เปิดเผยผลประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้าอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 – 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งหากในปี 2575 รัฐบาลยังไม่ออกมาตรการควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นไปถึง 2.2 ล้านล้านบาท
และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสูงมากในเดือนสุดท้าย

ผลงานวิจัย “พร้อมรับสังคมสูงวัย: วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ปี 2559 พบว่าในปี 2560 ที่มีจำนวน “ผู้สูงอายุติดบ้าน-ติดเตียง” อยู่ 1.3 – 1.7 แสนคน และจะขยับขึ้นเป็น 3.1 – 5.2 แสนคนในปี 2580 ขณะที่จำนวน “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ในปี 2560 ที่มีอยู่ 1.3 แสนคน ก็จะเพิ่มขึ้นไปถึง 2.6 – 3 แสนคนในปี 2580 พบว่าใน “เดือนสุดท้าย” ก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต นั้นมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยถึง 4.5 หมื่นบาทต่อคน หรือบางรายอาจสูงถึง 3.4 แสนบาท หากต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล อาจจะลดลงได้เหลือเพียงราว 2.4 – 4 หมื่นบาทเท่านั้น หากเป็นการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ในที่พักของผู้สูงอายุเอง

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ประกันสุขภาพ เรื่องจำเป็นยุคสังคมคนสูงอายุ? ตอนที่ 1