บล.กสิกรไทยลุ้นฟันด์โฟลว์-Window Dressing ดันหุ้นสัปดาห์สุดท้ายปี 66

HoonSmart.com>> “บล.กสิกรไทย” จับตา “ทิศทางเงินทุนต่างชาติ- Window Dressing ช่วงสิ้นปี-สถานการณ์ในทะเลแดง-ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ” หนุนหุ้นสัปดาห์หน้า แนวต้าน 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ ส่วนแนวรับ 1,390 และ 1,370 จุด ส่วนค่าเงินบาท “ธนาคารกสิกรไทย” มองกรอบการเคลื่อนไหว 34.20-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ   

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (25-28 ธ.ค.2566) ว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,390 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การทำ Window Dressing ช่วงสิ้นปี รวมถึงสถานการณ์ในทะเลแดง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของจีน ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น

ดัชนีหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดได้อีกครั้ง ทั้งนี้หุ้นไทยขยับขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยยังคงมีแรงหนุนต่อเนื่องจากการส่งสัญญาณจบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น และโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้าของเฟด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มเทคโนโลยี (หลังการประกาศหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี SET50 และ SET100) และแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมคารแล้ว ทั้งนี้สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงสวนทางภาพรวม เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ

ในวันศุกร์ที่ 22 ธ.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,405.09 จุด เพิ่มขึ้น 1.01% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 35,881.28 ล้านบาท ลดลง 18.16% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.34% มาปิดที่ระดับ 409.10 จุด

สวนค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (25-28 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.20-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขการส่งออกและเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนพ.ย. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ รวมถึงข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของจีน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ก่อนแข็งค่าขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย (รวมถึงเงินเยนที่อ่อนค่าลง หลัง BOJ มีมติคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม และไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับจังหวะการถอยออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก) ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งสะท้อนว่า จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567 ไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางธุรกรรมที่เบาบาง แต่ขยับแข็งค่าขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2566 ของสหรัฐฯ ซึ่งถูกปรับทบทวนลงมาที่ขยายตัว 4.9% ต่อปี และจากการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567

ในวันศุกร์ที่ 22 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 ธ.ค.)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 18-22 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,713 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 13,035 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 6,144 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 6,892 ล้านบาท)