HoonSmart.m>> กลุ่มธนาคารนำตลาดหุ้นพุ่งฉิ่วเฉียด 10 จุด หลัง 11 แบงก์ ประกาศผลงานปี 67 กำไรทั้งสิ้น 252,718 ล้านบาท โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 มีกำไรรวม 60,956 ล้านบาท ภาพรวมดีเกินคาด ยังโตได้ท่ามกลาง Downside เศรษฐกิจ เจอแรงกดดันการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สามารถดูแลคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี แนวโน้มการตั้งสำรองหนี้น่าจะลดลง ให้ปันผลสูงเป็นแรงจูงใจ นักวิเคราะห์ชู KBANK,KTB, BBL เด่น
ในปี 2567 ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสูงที่สุด 48,598 ล้านบาท เติบโตถึง 14.6% ตามด้วยธนาคารกรุงเทพ(BBL) มีกำไรสุทธิ 45,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.60% และบริษัท เอสซีบี เอกซ์(SCB) กำไรสุทธิ 43,943 ล้านบาท เติบโต 1.00%
ขณะที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) เติบโตดีเกินคาด 19.77% มีกำไรสุทธิ 43,856 ล้านบาท
ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กำไรลดลง 9.80% เหลือ 29,670 ล้านบาท โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 หดตัว 18.80% เป็น 6,276 ล้านบาท เนื่องจากตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ส่วนTISCO และ KKP กำไรลดลง เพราะธุรกิจหลักยังค่อยๆ ฟื้นตัว
“ภาพรวมกลุ่มธนาคารมีกำไรดี ส่งผลให้นักลงทุนหันมาสนใจ เหมาะทั้งเก็งกำไรและลงทุน เพราะให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง ท่ามกลางราคาซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี(บุ๊ค) ที่สำคัญทุกธนาคารต่างปรับตัวลดค่าใช้จ่าย และหาโอกาสทางธุรกิจต่างประเทศ”
นายธนเดช รังษีธนานนท์ หัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.พาย กล่าวว่า ผลประกอบการกลุ่มธนาคารออกมาค่อนข้างดี จาก 8 ธนาคารที่ดูแล ไตรมาส 4 ปี 2567 กลุ่มธนาคารกำไรเติบโต 20% YoY แต่ลดลง 7% QoQ ส่วนทั้งปี 2567 กำไรกลุ่มธนาคารโต 9% YoY
อย่างไรก็ตามยังคงให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาดสำหรับกลุ่มธนาคาร เพราะปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ทั้งจากเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งของสหรัฐฯ และไทย ที่อาจช้าไป ด้านการค้าการลงทุนก็ยังไม่แน่นอน คาดปีนี้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว แต่ในประเทศอาจควบคุมได้จากมาตรการของภาครัฐฯ
ทั้งนี้ ปี 2567 KTB เป็นแชมป์ที่งบฯออกมาดีสุด กำไรเติบโต 20% YoY แต่ SCB กำไรออกมาดีสุดในไตรมาส 4/2567 เติบโต 6.5% YoY, 7% QoQ ซึ่งเป็นการเติบโตที่มาจากการดำเนินงานด้วย ขณะที่ธนาคารอื่นไตรมาส 4 จะมีค่าใช้จ่ายสูงถ่วงอยู่ ซึ่งเป็นปกติในทุกปี พร้อมแนะนำ”ซื้อ”หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ คือ BBL ราคาเป้าหมาย 172 บาท, KBANK ราคาเป้าหมาย 180 บาท, TTB ราคาเป้าหมาย 2.12 บาท และ KTB ราคาเป้าหมาย 24 บาท ส่วน SCB แนะนำ”ถือ”ราคาเป้าหมาย 129 บาท แม้ผลประกอบการจะออกมาดีในไตรมาส 4 และมีความคาดหวังจะให้ปันผลดีด้วย แต่ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นไปมากแล้ว
สำหรับหุ้นเด่นสุดในกลุ่มธนาคารมองเป็น KTB จากผลงานเด่นทั้งกำไร และคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งเป็นหุ้นที่ Perform ได้ดีสุดในกลุ่ม ราคาหุ้นขึ้นได้ดีสุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 18% แต่ราคาหุ้นก็มาไกลแล้ว ดังนั้นถ้ามองในแง่ Upside แนะนำ BBL ผลงานไตรมาส 4 ดี แต่ราคาหุ้นยัง Laggard อยู่ สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงในกลุ่มธนาคารยังไม่มี แต่ TISCO ปี 2568 กำไรถือว่าไม่เติบโต คาดกำไรจะลดลง 5% YoY ซึ่งยังแนะนำ”ถือ”เพราะให้อัตราผลตอบแทนปันผลดีราว 7% และยังสามารถรอการฟื้นตัวได้ โดยครึ่งแรกปี 2568 มองว่าจะยังไม่ดี
นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลุ่มธนาคารไตรมาส 4 กำไรค่อนข้างดี ส่วนใหญ่จะออกมาดีกว่าคาด ธนาคารขนาดใหญ่ตั้งสำรองฯลดลง คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นตัวแทบทุกธนาคาร อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่กังวลคือ NIM ผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายต.ค.2567 ทำให้ไตรมาส 4 เห็น Asset yield น้อยกว่าที่ประเมิน ขณะที่ปี 2568 คาดว่ากำไรจะเติบโตไม่มาก แรงกดดันจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รายได้ดอกเบี้ยอาจลดลง แต่คุณภาพสินทรัพย์ยังดี การตั้งสำรองฯน่าจะลดลง อย่างไรก็ดี กำไรปี 2568 แม้จะเติบโตต่ำ แต่ให้ปันผลสูงปลอบใจได้ คาดเฉลี่ย 5%
พร้อมแนะนำ”ซื้อ”หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากสามารถรักษาฐานกำไรได้ โดย SCB ราคาเป้าหมาย 130 บาท งบฯไตรมาส 4 เด่นเติบโตทั้ง QoQ และ YoY ถือว่าแข็งแกร่งมาก, BBL ราคาเป้าหมาย 190 บาท, KTB ราคาเป้าหมาย 25 บาท และหุ้นเด่นสุดของกลุ่มธนาคารมองเป็น KBANK ราคาเป้าหมาย 175 บาท คุณภาพสินทรัพย์ฟื้นตัวดี ปี 2568 คาดจะลดการตั้งสำรองฯลง และยังได้ผลบวกจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่ง KBANK ถือหุ้นบริษัทเมืองไทยประกัน ในสัดส่วน 51% ทำให้บริษัทประกันขายกรมธรรม์ที่มีกำไรมากขึ้น อีกทั้งปี 2568 คาดจะให้ปันผลใช้ได้คิดเป็น 4.7% คิดจากราคาปิดเมื่อ 21 ม.ค.2568 ขณะที่ธนาคารขนาดกลางปี 2568 สินเชื่อเติบโตจำกัด จากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ โดยยอดขายรถมือ 1 ยังไม่ฟ้น
ในปี 2568 ตลาดไม่คาดหวังการเติบโตของ TISCO กำไรจะลดลง YoY จากการตั้งสำรองฯที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพื่อไปรองรับการขยายธุรกิจจำนำทะเบียนรถ และเช่าซื้อรถมือ 2 ส่วน KTB ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2567 ทำให้กำไรชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบ QoQ แต่ยังเติบโต YoY ได้มาก
นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพโดยรวมกลุ่มธนาคารถือว่าดี มีสัญญาณการขยายตัวของสินเชื่อเล็กน้อย และ NPLs ไม่ขึ้นมากเป็นสัญญาณบวก รวมถึงการตั้งสำรองฯก็ไม่มากอย่างที่กลัวจากเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว หากมองในแง่ Valuation ถือว่าถูก เทรดต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี ราว 0.7 เท่า ต่ำกว่าก่อนหน้านี้ในภาวะปกติเทรด 1.2-1.5 เท่า หลังโควิดแล้วหุ้นกลุ่มธนาคารก็ยังไม่กลับไปเทรดที่เดิม ยังคงต่ำบุ๊คอีก และถ้า NPL ไม่มีปัญหามาก จัดว่ากลุ่มธนาคารน่าสนใจลงทุนเพราะ Valuation ยังถูก
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในวิเคราะห์ฯว่า 7 ธนาคารกำไรสุทธิไตรมาส 4 ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท -6% QoQ, +20% YoY ดีกว่าคาด 8-13% หลัก ๆ มาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน และ credit cost ที่ออกมาต่ำกว่าคาด โดย SCB และ KKP ดีกว่าคาดมากสุดจาก OPEX ที่ต่ำกว่าคาดและตีมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาดสูงขึ้น ขณะที่ BBL และ KTB รายงานตัวเลข NPLs ปรับลดมาก ส่วนการเติบโตของสินเชื่อไตรมาส 4 ปี 2567 ทรงตัว y-y, +1.8% q-q, Non-NII เติบโตดีแต่แนวโน้มขึ้นอยู่กับภาวะตลาดทุนและกำลังซื้อ NIM อยู่ที่ 3.51% ดีกว่าคาดเล็กน้อย NPLs ลดลงเป็น 3.55% จาก 3.8% ใน 3Q24 อย่างไรก็ดี KBANK และ SCB อาจยังมีความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์
ปี 2567 ทั้ง 7 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2.1 แสนล้านบาท +10% y-y ยังชอบ BBL และ KTB เป็น Top Pick และกลุ่มธนาคารยังให้ Div. yield เฉลี่ย 5% ต่อปี
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่าในไตรมาส 4 KBANK ทำกำไรสุทธิได้ 1.05 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11. 8% YoY แต่ลดลง 12.3% QoQ ซึ่งสูงกว่าประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์ฯ 4% และสูงกว่า Bloomberg consensus 7% โดยปัจจัยบวกที่ช่วยหนุน คือ สินเชื่อที่เติบโตสูงกว่าคาด 0.6%YoY และ 2.9%QoQ
ส่วนปัจจัยที่ทำให้กำไรสุทธิลดลง QoQคือ ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ดังนั้น KBANK จึงมีกำไรสุทธิในปี 2567 ที่ 4.86 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.6% YoYขณะที่กำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ในไตรมาส 4 ลดลง 3.3%YoY และ 6.1% QoQแต่ PPOP ในปี 2567 ยังคงเติบโต 2.8%
ในการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2568 ผู้บริหารของ KBANK ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของเป้าหมายปี 2568 เพราะ CEO เตรียมจะประกาศระหว่างโรดโชว์ในวันที่ 3 ก.พ.68 นี้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยังคงเชื่อว่าอัตราการสำรองหนี้สูญในปีนี้จะกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ 140-160bp เทียบกับสมมติฐานของฝ่ายวิเคราะห์ฯที่ 170bp ในปี 2568
ขณะเดียวกัน KBANK ประเมินในเบื้องต้นว่ามาตรการช่วยลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” น่าจะกระทบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) 3-5bp โดยผู้บริหารกล่าวว่า อัตราการสมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับอนุมัติจากธนาคาร น่าจะใกล้เคียงกับฐานข้อมูลของธปท.ที่ 10% ของจำนวนลูกหนี้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ ผู้บริหารชี้แจงว่าสินเชื่อ stage 2 ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2567 มาจากลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับ โครงสร้างหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อแบบมีหลักประกันและอยู่ในกลุ่มสินเชื่อ SME ขนาดเล็กที่มีหลักประกันและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ปรับประมาณการ EPS ของ KBANK ในปี 68-69 ลง 4.1-5.1% พร้อมกับนำเสนอประมาณการในปี 70 โดยปรับประมาณการกำไรของ KBANK หลังปรับลดสมมติฐานคือ 1.อัตราการเติบโตของสินเชื่อจาก 4% เป็น 1.9-2.0% 2.ปรับ NIM ลง 9-12bp สะท้อนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งแรกปีนี้ 3.อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจาก 4.0-4.4% เป็น 3.4-3.9% ในปี 68-69
ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KBANK ที่ราคาเป้าหมาย 188 บาท ซึ่งเท่ากับ P/BV 0.74 เท่าในปี 68 โดยมองว่าน่าจะมีกำไรต่อหุ้นเติบโตดีในอัตรา 2.0-5.2% ในปี 2568-2570, อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจที่ 4.7% ต่อปีในปี 68-70 และสามารถบริหารจัดการ NPL ได้ดีขึ้น
โดย KBANK จะมี downside risk หาก NPL หรือสินเชื่อ stage 2 พุ่งสูงขึ้น รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนคือ การปรับเพิ่มประมาณการกำไรใน 2568-2570 เนื่องจากอัตราการสำรองหนี้สูญกลับมาอยู่ในระดับปกติและการขยายธุรกิจสินเชื่อในต่างประเทศ
ด้านการซื้อขายหุ้นแบงก์ปรับตัวขึ้นยกแผง นำโดย KTB พุ่งขึ้น 5.50% ปิดที่ 23 บาท บวก 1.20 บาท ส่วน BBL มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดถึง 3,458.68 ล้านบาท ราคาปิดที่ 156 บาท เพิ่มขึ้น 5 บาทหรือ + 3.30% รวมถึงแรงซื้อหุ้นใหญ่ เช่น DELTA , ADVANC สนับสนุนให้ดัชนีพุ่งขึ้น 9.24 จุดหรือ +0.68% ปิดที่ระดับ 1,361.77 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 43,955.35ล้านบาท วันที่ 21 ม.ค.2567