กนง.เสียงแตกคงดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 มองศก.เติบโต

บอร์ดกนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เสียงแตกหนุนขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียงจากประชุมรอบก่อน เชื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง แม้ส่งออกกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน จับตาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน พร้อมคงนโยบายการเงินในระดับผ่อนปรนต่อไป

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้อุปสงค์ต่างประเทศมีสัญญาณชะลอลงบ้าง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเพิ่มขึ้น ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสม ความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัว ของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย นโยบายไว้

ส่วนกรรมการ 3 ท่านเห็นว่าความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมิน ความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนใน ระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดําเนินนโยบายการเงิน (policy space) สําหรับอนาคต

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าการส่งออกจะมีสัญญาณชะลอลงบ้าง โดยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ชะลอลง และผลจากสภาวะอากาศของประเทศคู่ค้าที่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่การท่องเที่ยวชะลอลง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตาม แรงส่งของอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภค ภาคเอกชนขยายตัวตามรายได้และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่ยังได้รับแรงกดดันจาก หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

สำาหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิต มายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว ชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากความล่าช้าในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ในภาพรวมเศรษฐกิจไทย ยังขยายตัวดีแต่เผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจมากกว่าคาดรวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นตามความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมี แนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิมตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทําให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่อง ในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ทําให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวทั้ง สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทเทียบกับ เงินดอลลาร์สรอ.อ่อนค่าลงเช่นเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตาม สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้ เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนําไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) สําหรับภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง ได้รับการดูแลในระดับหนึ่งด้วยการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกํากับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ให้ติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน และความสามารถในการชําระหนี้ของ ภาคธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบ การทําธุรกิจ

“มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ ต่างประเทศชะลอลงบ้างและอาจมีความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และ จีนที่มากกว่าคาด รวมถึงต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ในระยะต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดําเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจําเป็นลง”นายทิตนันทิ์ กล่าว

อ่านประกอบ

กนง.มีมติ 4:3 คงดอกเบี้ย 1.50%