HoonSmart.com>>ศาลล้มละลายกลางกลางมีคำสั่งไม่เห็นชอบคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” (THAI) ผู้บริหารแผนมีอำนาจลดทุน ลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น โดยไม่กระทบสิทธิของเจ้าหนี้ และหากไม่ทำจะมีผลขาดทุนทางบัญชีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เห็นว่าไม่ควรเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน ปัจจุบัน 3 คนทำได้ดีอยู่แล้ว
ศาลล้มละลายกลางกลาง มีคำสั่งไม่เห็นชอบคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย (THAI)ตามมติที่ประชุมประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ทำให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีอำนาจ ลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์) เพื่อล้างขาดทุนสะสม และการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น โดยไม่กระทบสิทธิของเจ้าหนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ
นอกจากนี้ ศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มผู้บริหารแผน เพราะอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการและเพิ่มค่าใช้จ่ายที่กำหนดจ่ายให้ผู้บริหารแผนปีละ 5 ล้านบาท/คน ปัจจุบันที่มีผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน สามารถบริหารแผนฟื้นฟูกิจการมาด้วยดี
ศาลฯ เห็นว่าการบินไทยยังประสบปัญหาขาดทุนสะสมจำนวนมาก ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 มีขาดทุนสะสม 73,129 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนสะสมมานานกว่า 6 ปีก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ ในปี 2563 และคาดการณ์ว่าหลังเสร็จสิ้นการแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มทุน รวมถึงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักแล้ว การบินไทยจะต้องรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากรายการปรับกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และขาดทุนจากส่วนต่างราคาแปลงหนี้เป็นทุน และมูลค่ายุติธรรมอีกเป็นจำนวนประมาณ 4-8.5 หมื่นล้านบาทในงบการเงินสิ้นสุดเดือน ธ.ค.2567 แม้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก แต่จะมีผลขาดทุนทางบัญชีจะยิ่งทำให้มีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้น หากไม่มีการลดขาดทุนสะสม แม้จะปรับโครงสร้างทุนแล้ว การบินไทยจะไม่มีโอกาสจ่ายเงินปันผลอีกหลายปีภายหลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ และกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
การลดทุนเป็นวิธีการบริหารเงินทุนของบริษัทที่เหมาะสม เพื่อให้มีโครงสร้างทุนมีความแข็งแกร่ง ซึ่งศาลฯ ได้เคยมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ให้อำนาจผู้บริหารแผนฯ ลดทุนจดทะเบียน ด้วยการลดหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่ไม่มีการเสนอขาย ตามด้วยการลดพาร์ เพื่อล้างขาดทุนสะสมทางบัญชี ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลได้เร็วขึ้น และเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนฯ ที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้แผนฟื้นฟูฯ สำเร็จ
“การขอแก้ไขแผนฟื้นฟู เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการลดพาร์และจ่ายเงินปันผลนั้น ศาลเห็นว่าเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนฯ ที่จะกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการจ่ายเงินปันผลโดยไม่กระทบสิทธิของเจ้าหนี้”
ส่วนคำร้องขอเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน คือนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นข้อเสนอจากกระทรวงการคลังที่ รมว.คลังเห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าช่วงเวลาที่เหลือของการบริหารแผนต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ และการบินไทยต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้น เพื่อให้การฟื้นฟูฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
แต่ศาลฯ เห็นว่าเมื่อวันที่ 21 ต.ค.65 นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ได้ลาออกจากผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยจึงเหลือผู้บริหารแผนฯ 3 คน คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และนายพรชัย ฐีระเวช มีอำนาจดำเนินการตามแผนฟื้นฟู มาจนถึงปัจจุบันและเมื่อพิจารณารายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2565 จนถึงไตรมาส 4/2566 ปรากฎว่าสามารถดำเนินการตามสาระสำคัญของแผน ไม่ปรากฎความบกพร่อง
นอกจากนี้หากเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คนอาจทำให้กระบวนการยุ่งยากในทางปฏิบัติ และเกิดความล่าช้า รวมถึง 2 คนที่จะเพิ่มเข้ามาอยู่ในหน่วยงานของรัฐอาจจะทำให้ไม่คล่องตัว และยังเป็นการเพิ่มรายจ่ายของบริษัท อีกทั้งการบินไทยใกล้จะยกเลิกการฟื้นฟูฯ แล้ว ดังนั้นการเพิ่มผู้บริหารแผนจึงไม่มีความจำเป็น