HoonSmart.com>>เลขาธิการ EEC ย้ำเดินหน้าพัฒนาโครงการ Smart City และเมืองใหม่ เขตปลอดภาษี ดึงนักลงทุนสายกรีน ชูแนวคิด Net Zero เผยปี’68 ทัพ New S-CURVE 12 โครงการ ตอกเสาเข็มธุรกิจมูลค่า 1 แสนล้านบาท ครอบคลุมดิจิทัล ท่องเที่ยว สุขภาพ โลจิสติกส์
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยในงาน โครงการตลาดทุนพบภาครัฐ ครั้งที่ 1/2568 : เลขาธิการ EEC พบนักวิเคราะห์และนักลงทุน โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ดำเนินรายการว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( EEC) ตั้งเป้าหมายดึงการลงทุนในปี 2568-2569 จากทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ได้ปีละ 1.2 แสนล้านบาท มีการขอตั้งเขตอุตสาหกรรมใหม่แล้ว 30 เขต พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่
สำหรับ การลงทุนจริงที่จะเกิดในปีนี้มีประมาณ 1 แสนล้านบาท จากนักลงทุน 12 โครงการ ครอบคลุมธุรกิจดิจิทัล Data Center สาธารณูปโภค สุขภาพ โลจิสติกส์
ทางอีอีซี ตั้งเป้าที่จะนำนิคมอุตสาหกรรม 10 เขตเข้าขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2568 ซึ่งมีทั้งสิทธิยกเว้นภาษี และลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุน
โดยจะเน้นการพัฒนาโครงการ Smart City และเมืองใหม่ภายใต้แนวคิด Net Zero เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ปี 2568 จะมีโครงการ ที่ ได้ สิทธิ์ จาก EEC ลงทุนมูลค่า 100,000 ล้านบาท แต่ว่าเงินที่ลงทุนไม่ได้ เสร็จภายในปีนี้ทั้งหมด ต้องใช้เวลากว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินธุรกิจได้”นายจุฬา กล่าว
ทั้งนี้ โครงการหลักๆ ที่จะเกิดการลงทุน ประกอบด้วย
1. โครงการ Smart City และ EEC City หนึ่งในโครงการสำคัญของ EEC คือ “EEC City” ซึ่งเป็นเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะบนพื้นที่ 5,795 ไร่ (24 ตารางกิโลเมตร) ที่จังหวัดชลบุรี มูลค่าโครงการประมาณ 534,985 ล้านบาท โดยจะมีอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การแพทย์และสุขภาพครบวงจร ดิจิทัล การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการศึกษาด้านบุคลากร ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและการบิน
ส่วนสำคัญของเมืองนี้จะใช้แนวคิด “Net Zero” หรือการสร้างเมืองที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุด ผ่านการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและหลักการรีไซเคิลมาใช้ ทั้งเรื่องน้ำ การจัดการสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ โดยในปีนี้จะเริ่มศึกษาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนเปิดให้มีการประมูลสัมปทานบริหารในลักษณะ Consortium ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โดยนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงมีความสนใจในโครงการ สาธารณูปโภคที่เป็น Net Zero ในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างสูงเพราะว่าใกล้สนามบินแล้วก็ใกล้แหล่งท่องเที่ยว
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เพื่อรองรับการเติบโตของ EEC โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งมีปัญหาด้านการเริ่มก่อสร้าง แต่คาดว่าจะมีการแก้ไขสัญญา ถ้าเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 จะเริ่มเปิดใช้งานในปี 2572 เพราะจะใช้เวลาในการก่อสร้าง แล้วก็มีการทดสอบรถไฟความเร็วสูงด้วย 1 ปี
การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่จะมีการเพิ่มรันเวย์แล้วก็อาคารผู้โดยสารเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 60 ล้านคนแต่ว่าการก่อสร้างจะเริ่มเป็นเฟสๆ
โครงการ “Airport City” หรือเมืองการบินตะวันออกแล้ว ซึ่งจะเป็นเมืองที่มีคนไปใช้บริการ โดยมีแนวคิดว่าจะเป็นเขตปลอดภาษี อยู่ระหว่างการทำ Package ทางด้านภาษี ซึ่งจากการประเมินใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการลงทุนต่างๆในเมืองการบินจะมีมากถึง 200 ใบ
โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งจะเป็น Green Port โดยมีการถมทะเลแล้ว และกำลังส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนพัฒนา และจะมีการทำแพคเกจการลงทุนให้กับนักลงทุนเก่าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และแหลมฉบัง เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่ม หรือเกิดการ Reinvest เพื่อให้แข่งขันได้
ขณะที่ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะเป็นท่าเรืองขนส่งก๊าซ ก็ดำเนินการถมทะเลแล้ว ก็เตรียมส่งมอบพื้นที่ด้วย
โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่เดิมเป็นการร่วมทุนกับการบินไทยและแอร์บัส แต่ปัจจุบัน EEC เตรียมให้การบินไทยเข้ามาดำเนินโครงการในพื้นที่ 210 ไร่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งไทยเหมาะมากกับธุรกิจนี้เพราะว่าเป็นฮับของการบินอยู่แล้ว ทำให้เครื่องบินต่างๆไม่ต้องไปซ่อมไกลถึงสิงคโปร์
3. การขยายพื้นที่ EEC จากเดิมที่มี 3 จังหวัด (ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา) ไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี เพราะ 75% ของรายได้ของอำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอศรีมหาโพธิมาจากอุตสาหกรรม คาดว่าจะประกาศออกมาได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นจังหวัดที่ 4 ของ EEC และต่อไปจะเพิ่มพื้นที่จังหวัดจันทร์บุรีเข้ามาด้วย
ที่สำคัญ ยังเร่งเดินหน้าลดข้อจำกัดในกระบวนการออกใบอนุญาตก่อสร้าง และมีอำนาจในการอนุมัติการดำเนินการต่างๆ เพื่อช่วยให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้การลงทุนสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลา 6-8 เดือน หลังจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนจาก EEC แล้ว ซึ่งจะทำให้ GDP ของจังหวัดเพิ่มขึ้น 6.3% ต่อปี
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวว่า ในปี 2568 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกไทย ค่อย ๆ ขยายตัวสูงขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะทะลุ 40 ล้านคน และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยปีที่ผ่านมาตัวเลขการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สูงสุดในรอบ 10 ปี และในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงที่การลงทุนจากต่างชาติกลับเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมที่สุดเมื่อเทียบนิคมอุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆในอาเซียน เพราะไทยใกล้สนามบิน 3 แห่ง คือ ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน ใกล้ท่าเรือถึง 2 แห่ง มีความสะดวกสบายในการเดินทางและการขนส่งสินค้า ใกล้เมืองท่องเที่ยว