HoonSmart.com>>รายย่อยจนหนัก โดนหางเลขเจ้าของบจ.ถูกฟอร์ซเซลหลายตัว ประเดิมปี 68 “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” หรือเฮียฮ้อ นำหุ้น “อาร์เอส” (RS)และ”อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด” (RSXYZ) ไปตึ๊งขอมาร์จิ้น บล.แห่งหนึ่ง แต่ไปเล่นบล็อกเทรดอีกบล.หนึ่ง ถูกบังคับขาย RS ดิ่งฟลอร์วันที่สอง มาร์เก็ตแคปหายไปเฉียด 2,500 ล้านบาท RSXYZ เสียหาย 478 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์เผย RS วางค้ำมาร์จิ้นเพียง 222 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.2% ส่วนการกู้นอกตลาด ไม่รู้ เจ้าของหุ้นสามารถทำได้
วันที่ 7 ม.ค.2568 หุ้นบริษัท อาร์เอส (RS) ดิ่งฟลอร์วันที่สอง ราคาปิดที่ 2.60 บาท ร่วงลงแรง -1.14 บาทหรือ -30.48% ปริมาณการซื้อขาย 3.64 ล้านหุ้น มูลค่าซื้อขาย 9.51 ล้านบาท มาร์เก็ตแคปหายไปวันเดียวประมาณ 2,488 ล้านบาท หลังวันแรกดิ่งฟลอร์ปิดที่ 3.74 บาทรวมตั้งแต่สิ้นปีก่อน มาร์เก็ตแคปทรุดลง -6,219 ล้านบาท คิดเป็น -52.29%
ส่วนบริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด (RSXYZ) ราคาก็ดิ่งลงฟลอร์ปิดที่ 0.80 บาท -0.35 บาท หรือ-30.43% ปริมาณการซื้อขาย 56.16 ล้านหุ้น มูลค่า 49.50 ล้านบาท มาร์เก็ตแคปหายไปวันเดียวประมาณ 478 ล้านบาท รวมตั้งแต่สิ้นปีทรุดลง -1,108 ล้านบาทหรือ -45.39%
สาเหตุที่ทำให้หุ้น RS และ RSXYZ ตกเป็นเป้าถูกถล่มขายดิ่งติดฟลอร์ มีกระแสข่าวว่า นาย สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือเฮียฮ้อ ผู้ถือหุ้นใหญ่ RS และ RSXYS ได้นำหุ้นทั้งสองบริษัทไปวางเป็นหลักประกัน ขอสินเชื่อซื้อหุ้น (มาร์จิ้น) จากบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง เพื่อนำไปเล่นบล็อกเทรดกับบริษัทหลักทรัพย์อีกแห่งหนึ่ง หาช่องจากการใช้เงินจำนวนน้อยไปหาโอกาสเล่นหุ้นจำนวนมาก (เกียร์ริ่ง) สูง เมื่อราคาปรับตัวลง จึงถูกเรียกวางหลักประกัน หรือนำเงินมาเติม เมื่อไม่มีก็ต้องถูกบังคับขาย ซึ่งราคาหุ้น RS ยังมีโอกาสดิ่งลงแรงต่อเพราะยังมีออเดอร์ขายค้างอยู่กว่า 200 ล้านหุ้น
ด้านนาย รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีหุ้น RS ที่มีการถูกฟอร์ซเซล และทำให้ราคาหุ้นตกตามที่เป็นข่าวนั้น จากการดูข้อมูลที่มีการเปิดเผยพบว่าหุ้นที่นำไปใช้เป็นหลักประกันขอมาร์จิ้นโลน ณ สิ้นเดือนพ.ย. 2567 พบว่าหุ้น RS มีการเอาไปใช้เป็นหลักประกันมาร์จิ้นโลน จำนวน 222 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยก่อนถูกฟอร์ซเซล ราคาหุ้น RS อยู่ที่ 5 บาทกว่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หุ้นที่นำไปทำมาร์จิ้นโลน กับหุ้นที่นำไปจำนำเป็นธุรกรรมที่มีความแตกต่างกัน โดยหุ้น RS ถูกฟอร์ซเซล จากการนำไปวางเป็นมาร์จิ้นโลนกับโบรกเกอร์ มีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจน ขณะที่การจำนำหุ้น เป็นการทำนอกตลาด อาจจะจำนำแบบมีใบหุ้น หรือไม่มีใบหุ้น และไม่มีการรายงานหรือเปิดเผยข้อมูล โดยเป็นสิทธิที่เจ้าของหุ้นสามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ทางตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ว่าจะทำอย่างไรในการให้มีการเปิดเผยข้อมูลการจำนำหุ้น เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้ กรณีของหุ้น RS มีผลกระทบต่อบรรยากาศตลาดที่แตกต่างไปจากเคสของหุ้น THG ที่ถูกฟอร์ซเซลจากการนำหุ้นไปจำนำนอกตลาดเป็นหลัก โดย THG มีการนำหุ้นไปวางเป็นมาร์จิ้นโลนเพียง 4.3 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.5% เท่านั้น
ในปี 2567 มีหุ้น 9 บริษัทที่เจ้าของถูกฟอร์ซเซล จนราคาดิ่งหลายฟลอร์ หากเทียบมาร์เก็ตแคป ณ สิ้นปี 2566 กับสิ้นปี 2567 คิดเป็นความเสียหายรวมประมาณ 209,598 ล้านบาท
อ่านข่าว
RS ชี้หุ้นดิ่งฟลอร์ 2 วันติดจากกลไกตลาด ยันไม่รู้ผู้บริหารถูก Forced sell