HoonSmart.com>>ก.ล.ต.เฮียริ่งปรับปรุงเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อซื้อหลักทรัพย์เข้มขึ้น ป้องกันกระทบความน่าเชื่อถือตลาดทุนไทย เพื่อให้เหมาะกับฐานะของ บล. ดูยอดหนี้คงค้าง-กระจุกลูกค้าเฉพาะราย-ส่องพฤติกรรมไม่เหมาะสม-เครดิตไม่พอเรียกเงินเพิ่ม คุมอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นหุ้น IPO ห้ามปล่อยให้หน่วยลงทุนหวั่นลามไถ่ถอนหน่วย ห้ามให้กู้ซื้อบิ๊กล็อตผู้เกี่ยวข้อง ด้านหุ้นร่วงแรง 0.87% ตามภูมิภาค สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเผยผลสำรวจปรับลดเป้าสิ้นปีนี้จาก 1,614 จุดเหลือ 1,556 จุด
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) หลักการเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (สินเชื่อมาร์จิ้น) เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คำนึงถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์/หนี้เสีย และลดผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม
ปัจจุบัน บล. มีการให้บริการมาร์จิ้นให้กับผู้ลงทุน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. พบว่ามีหุ้นหลายตัวที่เป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นมีราคาผันผวนและลดลงจากสาเหตุต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกับมูลค่าหลักประกันจน บล. ต้องบังคับขายหลักประกัน แต่มูลค่าการบังคับขายหลักประกันอาจไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้จึงเกิดความเสียหายต่อ บล. และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม ประกอบกับ บล. บางแห่งมีการปล่อยมาร์จิ้นในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับฐานะของบล. และ บล. หลายแห่งมีการปล่อยมาร์จิ้นที่กระจุกตัวในลูกค้าและหลักประกัน
นอกจากนี้ การบังคับขายหลักประกันที่เป็นหน่วยลงทุนอาจส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลดลงจนอาจนำไปสู่การไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่น ๆ ตามมา และอาจมีความเสี่ยงทางกฎหมายจากการบังคับขายทอดตลาดที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการปล่อยกู้ให้บุคคลกลุ่มเดียวกันโดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ (Loan Against Securities : LAS) ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธุรกรรมมาร์จิ้น
ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความรัดกุมในการบริหารความเสี่ยงของ บล. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ปรับปรุงอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (Initial Margin : IM) ของหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (หุ้น IPO) เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักประกันจะไม่เพียงพอชำระหนี้
(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับฐานะของ บล. ในเรื่องยอดหนี้คงค้างจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทุกรายรวมกัน และแก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งให้รัดกุมยิ่งขึ้น
(3) กำหนดสัดส่วนการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของลูกค้าแต่ละราย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ต้องไม่เกินกว่าระดับที่กำหนด และให้ บล. ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าเพื่อป้องกันการซื้อขายไม่เหมาะสม
(4) กำหนดให้ บล. คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ของลูกค้าอย่างเหมาะสม ทั้งการเรียกให้ลูกค้านำเงินหรือทรัพย์สินมาวางเป็นประกันเพิ่ม (call) และการบังคับชำระหนี้ (force) margin loan
(5) ยกเลิกหน่วยลงทุนจากการเป็นหลักทรัพย์ที่ให้กู้ยืมเพื่อซื้อในบัญชีมาร์จิ้น (marginable securities) และการเป็นหลักประกันในธุรกรรม margin loan และธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL)
(6) กำหนดให้ บล. มีมาตรการดูแลเพื่อให้การกู้ยืมเงินผ่านบัญชีมาร์จิ้นเป็นไปเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงหรือสาระที่แท้จริง (substance) ของธุรกรรมดังกล่าว เช่น กรณีที่การใช้มาร์จิ้น เพื่อซื้อหุ้นบิ๊กล็อตกับผู้เกี่ยวข้อง อาจมีลักษณะที่อาจเข้าข่าย Loan Against Securities ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ บล. ไม่สามารถให้บริการได้
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงหลักการในเรื่องดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1056 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDgwOERHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือทาง e-mail : benja@sec.or.th kunpatu@sec.or.th laksika@sec.or.th anudporn@sec.or.th sawarin@sec.or.th หรือ arthipha@sec.or.th จนถึงวันที่ 4 ก.พ. 2568
ด้านตลาดหุ้นวันที่ 6 ม.ค. 2568 ดัชนีหุ้น SETปิดที่ 1,372.65 จุด ร่วงแรง 12.11 จุดหรือ -0.87% ตามภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลง นำโดยอินเดีย NIFTY 50 ดิ่ง -1.62% นิเคอิร่วง 1.47% เช่นเดียวกับค่าเงินบาทอ่อนตามภูมิภาคปิดที่ 34.63 บาทต่อดอลลาร์
ตลาดหุ้นไทยที่ร่วงลงแรง เกิดจากสถาบันไทยขาย 862 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนต่างชาติพลิกมาซื้อ 650 ล้านบาท พอร์ตบล.ซื้อ 208.58 ล้านบาท รายย่อยนิ่ง ซื้อ 3.53 ล้านบาท
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า หุ้นวันนี้ปรับฐาน เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ และเจอแรงกดดันจากหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า หลังจากที่”ทักษิณ ชินวัตร”ได้ออกหาเสียงแล้วกล่าวว่าจะปรับลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาท/หน่วย นอกจากนี้หุ้นในกลุ่มสื่อสารก็ย่อตัวลงด้วย จากมุมมองของโบรกเกอร์ที่ Downgrade ทำให้ Valuation เริ่มตึง อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้แรงพยุงจากหุ้นในกลุ่มธนาคารที่คาดว่าจะจ่ายปันผลสูง ช่วงเดือนม.ค.มักจะมีการเก็บสะสมหุ้นที่ให้ปันผลสูง คาดแนวโน้มวันพรุ่งนี้ (7 ม.ค.) ตลาดคงจะยังซึมตัวอยู่ โดยมีแนวรับ 1,360 จุด แนวต้าน 1,380 จุด
ทางด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน รวม 26 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในปี 2568 มองดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ 1,322 – 1,581 จุด โดยปิดสิ้นปีที่ 1,556 จุด ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่คาดว่าอยู่ที่ 1,614 จุด
ปัจจัยลบมาจากฟันด์โฟลว์ต่างประเทศออกจากตลาดหุ้นไทย ผู้ตอบ 74.07% ของผู้ตอบทั้งหมด รองลงมา ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ มีผู้ตอบ 69.23% ตามมาด้วยปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบ 61.54% และการลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก มีผู้โหวต 55.56% ตามลำดับ
“ปี 2567 นักลงทุนต่างชาติขายออกเกือบ 1.5 แสนล้านบาท ส่วนปีนี้นักวิเคราะห์ไม่ได้คาดหวังจะเข้ามา แต่เชื่อมั่นกลไกเศรษฐกิจไทยซึ่งจะฟื้นตัว จากการลงทุนของภาครัฐที่สามารถใช้งบลงทุนได้อย่างเต็มกำลัง”
แนวโน้มไตรมาส 1/2568 มองไปในทิศทางบวก คาดจะปิดสิ้นไตรมาสที่ 1,449 จุด
นักวิเคราะห์แนะนำให้มีการกระจายพอร์ตลงทุน แบ่งเป็น เงินสดและเงินฝากระยะสั้น 10.72% กองทุนตราสารหนี้ 22.00% หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 29.56% หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 22.52% กองทุนอสังหาฯ หรือ REIT 6.90% ทองคำหรือกองทุนทองคำ 8.10% และสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น Bitcoin 0.20% ทั้งนี้การลงทุนต่างประเทศ แนะนำกองทุนหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะ AI-Technology และ Selective Asia เช่น จีน เกาหลี และ เวียดนาม สำหรับหุ้นไทยแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ในหมวดธุรกิจค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง ภาคบริการ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีและการสื่อสาร ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดธุรกิจยานยนด์ พลังงานและปิโตรเคมี
สำหรับหุ้นเด่นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 4 สำนักขึ้นไป
1. AOT มองว่าได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวฟื้น ททท.คาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศปิดปีก่อนที่ 36 ล้าน และปี 2568 ที่ 40 ล้านคน
2. ADVANC ธุรกิจฟื้นตัว ต้นทุนต่ำลง มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ปลอดภัยจากนโยบายของทรัมป์ และได้ประโยชน์จากกระแส Data center
3. BDMS ได้อานิสงส์จากสังคมสูงวัยที่จะใหญ่ขึ้น กลุ่มผู้ป่วยต่างชาติยังคงเติบโต
4. CPALL ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ