ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดตลาดผู้มีบุตรยากโต 6.2% จับตา 24 บจ.ในห่วงโซ่ธุรกิจรับอานิสงส์?

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดมูลค่าตลาดรักษาผู้มีบุตรยากปี’68 แตะ 6,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จับตา 24 บจ.ในห่วงโซ่ธุรกิจรับอานิสงส์?

ปัจจุบัน โรงพยาบาลและคลินิกที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ที่เข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) มี 23 บริษัท ประกอบด้วย BDMS, BCH, BH, CHG, EKH, KDH, LPH, M-CHAI, NEW, NTV,PHG, PR9, PRINC, RAM, RJH,RPH, SKR, THG, VIBHA, VIH และคลินิก 3 บริษัท ได้แก่ SAPE, GFC, BKGI

ส่วนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่เพิ่งเข้าเทรดล่าสุดเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านคือ IVF น่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากตลาดบริการรักษาผู้มีบุตรยากยังคงเติบโตต่อเนื่อง

 

น.ส.อิศราวดี เหมะ เจ้าหน้าที่วิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2568 มูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกจะอยู่ราว 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 6.8% จากปี 2567 ตามอัตราการเจริญพันธุ์ที่ยังคงลดลง และปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่น่าจะกินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นตามการเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับที่รุนแรงขึ้นของหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ชายไทยทำตลาดโตกว่า 5%

สำหรับแนวโน้มตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 6,300 ล้านบาท ขยายตัว 6.2% จากปี 2567 โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มลูกค้าชาวไทย มีสัดส่วน 70% ของผู้มาใช้บริการทั้งหมด มูลค่าทางการตลาดมีสัดส่วน 55% คาดว่าจะขยายตัว 5.0% ตามค่านิยมมีบุตรช้าลง รวมถึงปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่มีความซับซ้อน และมีสาเหตุมาจากเพศชายมากขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาวิธีการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

ขณะที่จำนวนลูกค้าชาวต่างชาติ 30% มีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 45% ของมูลค่าตลาดรวม คาดว่าจะขยายตัว 7.6% เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติจะสูงกว่าชาวไทยราว 1 เท่าตัว เนื่องจากต้องมีบริการเสริมอื่นๆเพิ่มเติมในแพ็กเกจการรักษา เช่น ล่าม รถรับส่ง ค่า Commission ฯลฯ

ค่าบริการดี+สถานที่เยี่ยม

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศจีน อินเดีย และอาเซียน นิยมเดินทางเข้ามารักษาภาวะมีบุตรยากในไทยมากที่สุด ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก จาก Fertility Tourism ที่มีความโดดเด่นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

ค่ารักษาพยาบาลยังต่ำกว่าคู่แข่ง การรักษาโดยวิธี IVF ในไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมถึงสถานพยาบาลไทยที่ได้มาตรฐาน Joint Commission International (JCI) สูงกว่าหลายประเทศ

ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ชาวต่างชาตินอกเหนือจากการรักษา เช่น โรงแรม/ที่พัก ร้านอาหาร ศูนย์การค้าต่างๆ รวมถึงการออก Medical Treatment Visa ให้แก่ผู้มารับบริการชาวต่างชาติที่ต้องพำนักในไทยเพื่อติดตามผลการรักษา

รวมถึง การขยายตลาดใหม่ๆ ธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในระยะข้างหน้า ยังมีโอกาสเติบโตได้จากการปรับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องใหม่ความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการผ่อนปรนการมีบุตรคนที่ 3 ของจีน และการเตรียมปรับกฎหมายอุ้มบุญของไทย

นอกจากนี้ยังรวมถึงเทรนด์การแช่แข็ง/ฝากไข่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั่วโลก

การบังคับใช้พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ในปี2568 ทำให้ต้องมีการปรับแก้กฎหมายลูกต่างๆให้สอดรับกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม

จับตา 3 ความเสี่ยงธุรกิจ

หนึ่ง การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลกว่า 70% ของผู้ให้บริการทั้งหมด อย่างไรก็ดี รายได้ของธุรกิจยังขึ้นอยู่กับมาตรฐานและ อัตราความสำเร็จเป็นสำคัญ

สอง จำนวนบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากมีจำกัด โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน จากยังไม่มีหลักสูตรอุดมศึกษาในไทยที่เปิดสอนด้านนี้โดยตรง

สาม การเปลี่ยนแปลงมาตรการอุดหนุนการรักษาภาวะมีบุตรยากในประเทศของคนไข้ต่างชาติเช่น ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีการอุดหนุนการทำ IVF ผ่านระบบประกันสุขภาพใน 4ทเมือง และไปข้างหน้าก็มีความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มอีก ทำให้อาจมีผลต่อการตัดสินใจมารับบริการในไทย