“รายได้-กำไร”บจ.ไทยหดสุดในโลก สะท้อนศก.อ่อนแอสวนทาง GDP โต

HoonSmart.com>> KKP Research หั่น GDP ปีนี้เหลือ 2.4% จากเดิม 2.8% ผลจากยอดขายรถ บ้าน ลดลง บริษัทจดทะเบียนไทยเดินทางสู่ช่วงตกต่ำ ยอดขาย รายได้ กำไรต่อหุ้น ลดลงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก สินเชื่อธนาคาร การจัดเก็บภาษี หดตัว ลดลง สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัวอย่างมาก

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เหลือ 2.4% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการณ์ครั้งที่ 2 จากเดิมตั้งไว้ 3.3% แล้วปรับลงมาเหลือ 2.8% เมื่อปลายเดือนส.ค. และล่าสุด เหลือ 2.4%และประมาณการปีหน้าเป็น 3.7% หาก Digital Wallet ผ่านและ 2.9% กรณีไม่รวม Digital Wallet

ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการณ์ GDP เหลือ 2.4% มาจาก 5 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย
1.ยอดขายบ้านและรถยนต์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเกิดจากทั้งรายได้ในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ช้า การปล่อยกู้ของสินเชื่อภาคธนาคารที่ตึงตัวขึ้นมาก และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น

2.ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนออกมาอ่อนแอต่อเนื่องสวนทางกับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย( GDP) ในฝั่งการใช้จ่าย โดยในช่วงที่ผ่านมา ทิศทางกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างแย่ และมีจำนวนหุ้นที่ถูกปรับการคาดการรายได้ ( Earning) ลง มากกว่าจำนวนหุ้นที่ถูกปรับการคาดการรายได้ขึ้น

ขณะที่กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ลดลงมากว่า 10% จากต้นปี 2566 ซึ่งลดลงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวมากกว่าฟื้นตัวได้ดี สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

3.อัตราการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same store sale growth) ของบริษัทจดทะเบียนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยชะลอตัวลงทั้งในกลุ่มของสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย และมีแนวโน้มปรับเป็นติดลบในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนว่าการบริโภคสินค้าในกลุ่มสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนก็มีทิศทางชะลอตัวลงอย่างมากเช่นกัน สวนทางกับตัวการบริโภคภาคเอกชนใน GDP ล่าสุด

4.สินเชื่อในภาคธนาคารหดตัว สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์มีมุมมองที่ไม่ดีนักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อในระยะข้างหน้า จึงชะลอการปล่อยกู้ลง แม้ในช่วงก่อนหน้าจะมีหลายฝ่ายเชื่อว่าการชะลอตัวของสินเชื่อและการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้เสียเกิดขึ้นไม่มากและเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่พัฒนาการในปัจจุบันยังสะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์มีมุมมองที่ไม่ได้เป็นบวกนักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ นำไปสู่การชะลอการปล่อยกู้ ประกอบกับปัญหาหนี้เสียที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นและมีความเสี่ยงค้างสูงเป็นเวลานาน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อการเติบโตของการบริโภคและการลงทุนในระยะต่อไป และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรขาลงของสินเชื่อ (Delveraging Cycle)

5.ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปีภาษีที่ผ่านมา ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งควรสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หดตัวประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแม้ปรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงแล้ว ซึ่งผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง

อย่างไรก็ตาม ได้ปรับ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 3.7% จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (Digital Wallet) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ 0.8% ของ GDP โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้า กรณีที่ไม่รวมผลจากมาตรการนี้ คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงเหลือ 2.9% ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการเติบโตในระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง นโยบายแจกเงินส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด และกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราว นอกจากนี้ ผลกระทบด้านลบยังรวมไปถึงต้นทุนทางอ้อมต่อเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น จากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นจากการที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีกด้วย
2) การท่องเที่ยวที่ยังคงฟื้นตัวได้โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 35 ล้านคนในปี 2567 และ
3) การส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามวัฏจักรการผลิตและการส่งออกโลก