ซิโน-ไทยเร่งโตตั้งเป้ารายได้ปีนี้ทะลุ2.5หมื่นล้าน

ซิโน-ไทยตั้งเป้ารายได้ปีนี้โตแตะ 2.5 หมื่นล้าน เติบโต 20-25% มั่นใจปีนี้กลับมาทำกำไร หลังตั้งสำรองขาดทุนโครงการก่อสร้างรัฐสภา 2,800 ล้าน ล่าสุดตุนงานในมือแล้ว 1.3 แสนล้านบาท ผู้ถือหุ้นซักบอร์ดขอความชัดเจนเรียกค่าเสียหายสร้างรัฐสภาช้า-ซื้อหุ้นคืนหลังราคาร่วงต่อเนื่อง

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC เปิดเผยระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 วันนี้ (30 เม.ย.) ว่า ในปี 2561 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากการก่อสร้าง 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีรายได้ 2.1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 25-30% และในปี 2562 บริษัทคาดว่ารายได้การก่อสร้างจะเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัทมีงานในมือ (backlog order) 1.3 แสนล้านบาท โดยไม่รวมโครงการก่อสร้างที่ภาครัฐจะทยอยเปิดประมูลอีก 2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงานก่อสร้างภาครัฐ 1.1 ล้านล้านบาท และงานลงทุนโครงการภาครัฐในรูปแบบพีพีพีอีก 9 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทสนใจที่เข้าร่วมประมูลหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟทางคู่ 10 สัญญา มอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง และการก่อสร้างทางด่วน เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทจะมีรายได้จากการรับงานก่อสร้างจากภาคเอกชนที่มีสัดส่วน 44-45% ของงานก่อสร้างทั้งหมด เช่น งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทเอกชน และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ได้สัญญาจากคู่สัญญาเอกชน

“ปีที่แล้วเราได้งานใหม่ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนปีนี้เราตั้งเป้าจะได้งานใหม่เพิ่มมาอีก 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายที่คอนเซอเวทีฟ และในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเราได้เซ็นสัญญาใหม่ไปแล้ว 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าของเอกชน แต่ก็ต้องดูว่าปีนี้ภาครัฐจะเปิดประมูลงานเท่าไหร่”นายภาคภูมิระบุ

นายภาคภูมิ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะกลับมาทำกำไรได้ จากปี 2560 ที่บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน 603 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ที่บริษัทมีกำไร 1,396 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2560 บริษัทตั้งสำรองผลการขาดทุนจากโครงการก่อร้าง 2 โครงการ 2,973 ล้านบาท คือ โครงการก่อสร้างรัฐสภาที่ตั้งสำรองขาดทุนเต็มจำนวน 2,800 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินภูเก็ตตั่้งสำรองขาดทุนประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนทั้งสองโครงการมาจากการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า ทำให้บริษัทไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอาคารที่หน่วยงานภาครัฐขยายสัญญาจาก 900 วัน เป็น 2,382 วัน หรือเพิ่มขึ้น 1,482 วัน ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาสัญญาก่อสร้างมากเกินปกติวิสัย ทางบริษัทจึงจะดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานภาครัฐต่อไป

“สัญญาก่อสร้าง 900 วัน ถ้าหน่วยงานภาครัฐขอขยายเวลาออกไป 200-300 วัน เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่นี่ขยายเวลาสัญญาก่อสร้างออกไปเป็น 6 ปี เพราะภาครัฐส่งมอบพื้นที่ล่าช้าเกินปกติ ซึ่งถือว่าเป็นความไม่เอาใจใส่ของข้าราชการ เราจึงจำเป็นต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ยังอยู่ในช่วงการประเมิน โดยครั้งที่แล้วเราเรียกค่าเสียหายไป 1,600 ล้านบาท แต่เขาปฏิเสธ และตอนนี้ผู้ว่าจ้างได้ขยายเวลาไปอีก 2 ครั้ง การเรียกค่าเสียหายรอบนี้คงต้องมากกว่าการเรียกค่าเสียหายครั้งก่อน”นายภาคภูมิกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นหลายรายได้ซักถามฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการว่า แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะมีงานในมือสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท แต่หากฝ่ายจัดการไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้บริษัทขาดทุนเช่นปี 2560 อีก ซึ่งฝ่ายบริหารระบุว่า จะควบคุมให้การก่อสร้างโครงการต่างๆเป็นไปตามแผนเพื่อไม่ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างบานปลาย โดยจะให้คณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบลงมากำกับดูแลฝ่ายจัดการอย่างใกล้ชิดระดับรายโครงการ ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารมั่นใจว่าปีนี้จะไม่มีข้อผิดพลาดใดอีก และมั่นใจว่าปีนี้บริษัทจะมีกำไร ส่วนการตั้งสำรองขาดทุนจากโครงการก่อสร้างรัฐสภาครั้งเดียว 2,600 ล้านบาท ไม่แบ่งการตั้งสำรองเป็น 2 ปี เพราะไม่ต้องการยืดเยื้อและขอเจ็บครั้งเดียวแต่จบ

ส่วนการฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยจากหน่วยงานภาครัฐ นายเรวัติ ฉ่ำเฉลิม ประธานกรรมการบริษัทฯ ให้ความมั่นใจกับผู้ถือหุ้นว่า ทางบริษัทจะฟ้องเรียกค่าเสียหายคืนบริษัทได้แน่นอน เพราะแม้ว่าสัญญาจะกำหนดไม่ให้ผู้รับจ้างเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจากผู้ว่าจ้าง แต่การขยายสัญญาออกไปจากเดิมมากกว่า 30% ถือเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต โดยเป็นการใช้สิทธิเกินสมควร

ผู้ถือหุ้นยังสอบถามว่าบริษัทฯมีแผนซื้อหุ้นคืนหรือไม่ หลังจากราคาหุ้นตกลงต่อเนื่อง โดยนายวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร ประธานกรรมการบริหาร STEC กล่าวว่า ตอนนี้คงตอบไม่ได้ แต่จะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมกรรมการ แต่โดยปกติแล้ว บริษัทที่ซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเงินเหลือ ต่างจาก STEC ที่อยู่ในช่วงการลงทุน