‘บางจากฯ’ ชี้ Clean Molecules ตอบโจทย์ขับเคลื่อนโลกยั่งยืน

HoonSmart.com>>”บางจาก คอร์ปอเรชั่น” (BCP) จัดงานสัมมนาใหญ่แห่งปี’66 นำเสนอประเด็นเชื้อเพลิงอนาคตที่จะตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืน  เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศร่วมสะท้อนมุมมอง “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช “เสนอใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ Regenerative Fuels เป็นโมเลกุลสะอาด (Clean Molecules) ไม่ปล่อยคาร์บอน บางจากฯเข้าสู่พลังงานสีเขียวมากขึ้น คาดเปิดขายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ในปี 68 กำลังผลิต 1 ล้านลิตร/วัน ความต้องการซื้อล้นหลาม ส่วน”เอสโซ่” ผลิตเพิ่มได้ประมาณ 1.45-1.48 แสนบาร์เรล 

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) จัดงานสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี 2566 Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” นำเสนอประเด็นเชื้อเพลิงอนาคตที่จะตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืน โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศร่วมสะท้อนมุมมองภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเกือบ 300 คน และผ่านช่องทางออนไลน์ประมาณ 2,700 คน และได้รับเกียรติจากมิสซิส แอสทริด เอมิเลีย เฮลเลอ เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายสไกร คงธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมรับฟัง

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” ชี้ถึงเชื้อเพลิงอนาคตที่จะตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืนว่า โลกให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น ไฮโดรเจนถูกมองว่าเป็นทางเลือกสำหรับอนาคต แต่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและการนำไปใช้งานจริงให้มีราคาและต้นทุนที่แข่งขันได้ ซึ่งจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงของโลกที่อยู่ในระดับสูงถึง 220 ล้านบาร์เรลต่อวัน เชื้อเพลิงเหลว (Liquid Fuels) จะเป็นรูปแบบพลังงานหลักที่สำคัญ จาก 2 ปัจจัยคือ ความหนาแน่นของพลังงาน (energy density) สูง ทำให้เก็บได้มากและการขนส่งที่สะดวก จากมหาสมุทรมาสู่เมืองใหญ่

สำหรับภาคการเดินทางและการขนส่ง ซึ่งจะยังคงมีความต้องการการใช้เชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก เชื้อเพลิงที่จะตอบโจทย์อย่างยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ การใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ Regenerative Fuels ซึ่งเป็นโมเลกุลสะอาด (Clean Molecules) ไม่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะช่วยบริหารจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage – CCUS) เพื่อให้โลกอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดและยั่งยืนขึ้น

สำหรับภาคการบิน เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เป็นทางเลือกพลังงานที่จะตอบโจทย์ภาคขนส่งอย่างยั่งยืน เมื่ออุตสาหกรรมการบินตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 กลุ่มบริษัทบางจากได้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ บุกเบิกธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิง SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil) เป็นรายแรกและรายเดียวของประเทศไทย โดยหน่วยผลิต SAF ที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง เป็นเชื้อเพลิงที่ภาคการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์  คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ในปี 2568 มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 8 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อปี   ปัจจุบันสายการบินทั่วโลกแสดงความต้องการซื้อหมดแล้ว

ภายในงานยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรด้านพลังงานชั้นนำระดับโลกมาร่วมนำเสนอข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเชื้อเพลิงอนาคตเพื่อตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืน โดย Mr. Ji Yang Lum, Associate Director, Biofuels Research and Analytics, S&P Global Commodity Insights บรรยายเรื่อง “Global Transportation with Sustainable Fuel Market” และบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีกระบวนการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี และเชื้อเพลิงอนาคต Mr. Michael Spivey Sales Director, Honeywell UOP บรรยายเรื่อง “A Total Solution for Low Carbon Intensity Renewable Fuels ” และ Mr. Jeff Caton Commercial Director – Asia Pacific, Axens Group บรรยายเรื่อง “Solutions for Energy Transition by Innovated Technologies”

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายวงการร่วมเสวนา “Pioneering Sustainable Aerospace: พลิกโฉมน่านฟ้า สู่การบินยั่งยืน” โดย ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ  , Dr. Kan Ern Liew, Head of Technology, Airbus Malaysia, นายยงยุทธ ลุจินตานนท์ Area Manager IATA Thailand, Laos, Cambodia and Myanmar, นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์   และแขกรับเชิญพิเศษ นางสาวอินทิพร แต้มสุขิน (แม็กซีน) ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์สายกรีน นายสุวิกรม อัมระนันทน์ (เปอร์) พิธีกร และ CEO บริษัท แบล็คดอท ดำเนินรายการโดย นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ (หนุ่ย แบไต๋) สะท้อนมุมมองของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งสายการบิน ผู้ให้บริการและผู้ส่งเสริมมาตรฐานในธุรกิจการบิน รวมไปถึงนักธุรกิจและนักเดินทาง ประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รวมทั้งแนวทางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะทำให้การบินด้วย SAF เป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและยกระดับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน เดินหน้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ในอนาคต

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จัด Greenovative Forum เป็นประจำปีทุกปีตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เพื่อสะท้อนให้สาธารณชนได้เห็นถึงประเด็นด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ควรตระหนักและร่วมมือกันแก้ไขหรือพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การบรรเทาภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bangchak.co.th และรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook: Bangchak

นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงการซื้อหุ้นบริษัทเอสโซ่(ประเทศไทย) หรือ ESSO ปัจจุบันได้เพิ่มกำลังการผลิตสูงขึ้นเป็นประมาณ 1.45-1.48 แสนบาร์เรล จากเดิมผลิตได้ประมาณ 1.3-1.4 แสนบาร์เรล ส่วนค่าการตลาดที่รัฐบาลมีนโยบายให้ปรับลดลง ขณะนี้อยู่ที่ 1-2 บาทเท่านั้น ไม่เคยถึง 4 บาท ทั้งนี้ค่าการตลาดที่เกิดขึ้น เพื่อแบ่งผลตอบแทนให้แก่ดีลเลอร์ ซึ่งสถานีบริการของบางจากเป็นของดีลเลอร์ประมาณ 80% ส่วนใหญ่เป็น SME