‘ออมสิน’ชูโมเดลธุรกิจ ESV ลดเหลื่อมล้ำ คาดปีนี้กำไรกระฉูด 3.3 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>”ออมสิน”จัดงานยิ่งใหญ่  GSB Forum 2023  เชิญ Dr. A.K.M. Saiful Majid Honorable Chairman ,GRAMEEN BANK  ประกาศความสำเร็จ “บริการทางการเงินเพื่อขจัดความยากจน” หวังจุดประกายให้คนไทยคิดโครงการที่ช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืน ไม่ใช่ CSR ที่มีต้นทุน เกิดโครงการหนึ่งแล้วจบไป “วิทัย”ชูโมเดล ESV เอากำไรของธุรกิจรายใหญ่มาช่วยฐากราก ดึงเข้าระบบสินเชื่อที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ธนาคารลดต้นทุนรุนแรงด้วย ส่งกำไรสูงกว่าช่วงก่อนโควิด แม้ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อีก 0.75%ตามตลาดก็ตาม 

ธนาคารออมสิน จัดงาน GSB Forum 2023 โดยเชิญผู้มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศมาให้ข้อมูลเรื่องความยั่งยืนช่วยให้สังคมดีขึ้น  โดยเฉพาะ Professor Dr. A.K.M. Saiful Majid Honorable Chairman ,GRAMEEN BANK ของบังคลาเทศ มาฉายภาพ The Financial Service to Eradicate Poverty (บริการทางการเงินเพื่อขจัดความยากจน) เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดงาน GSB Forum 2023  ธนาคารออมสินมีความพยายามส่งเสริมโปรโมทการทำงานเพื่อสังคม เพราะ ESG เป็นเทรนด์ที่สำคัญของโลก ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืน  ในส่วนของ GRAMEEN BANK เป็นต้นแบบที่ดี แต่เป็นคนละโมเดลกับธนาคารออมสิน ซึ่งการได้รับข้อมูลครั้งนี้ น่าจะช่วยจุดประกายให้ทุกคนคิดโครงการที่ช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืนยิ่งขึ้น

ปัจจุบันองค์กรต่างๆ เน้นหนักให้ความสำคัญกับ Net Zero ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แบงก์ก็มีการออกสินเชื่อสีเขียว(กรีนโลน) แต่อยากเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันแก้ปัญหาโครงสร้างของประเทศ เชิงสังคมให้มากขึ้นแบบยั่งยืน  เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน ความเลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวมาก ผ่านโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Corporate Social Responsibility หรือ CSR ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นมุมมองด้านต้นทุน และบริหารงบประมาณ ส่วนใหญ่จะทำโครงการหนึ่งแล้วจบไป ไม่ได้แก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ไม่มีความต่อเนื่อง จึงอยากให้มีการเปลี่ยนมุมมองจาก CSR เป็น Creating Shared Value หรือ CSV ช่วยสังคม เน้นลดความเหลื่อมล้ำ โดยที่สามารถขยายขอบเขตธุรกิจ เพิ่มลูกค้า ลดต้นทุนลงมหาศาล เพิ่มกำไรได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนให้กับสังคม และประเทศมากขึ้น ควบคู่กับ Net Zero

“ธนาคารออมสินเน้นการเป็นธนาคารเพื่อสังคม เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม โดยที่กำไรยังคงเติบโตได้ดี โดยออมสิน ทำมาตลอด 3 ปีครึ่งแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าประสบความสำเร็จมากขึ้นจริงๆ เราสร้างคอนเซปธนาคารเพื่อสังคมขึ้นใหม่ ด้านหนึ่งทำธุรกิจเหมือนแบงก์ปกติ มีธุรกิจขนาดใหญ่ มีกำไรพอสมควร  เอากำไรจากส่วนนี้ไปทำภาระกิจเชิงสังคม สร้างการเงินเพื่อความยั่งยืนให้กับคนฐานราก จึงเกิดเป็นดูโอมิชชั่น ธุรกิจฝั่งสังคมอาจขาดทุน แต่เอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาสนับสนุนสังคม เราเองก็ลดต้นทุนอย่างรุนแรง  ลดงบประมาณจากปีที่ผมมา 4.2 หมื่นล้านบาท เหลือ 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็ยังอยู่ได้ เอากำไรมาช่วยคนข้างล่าง มีกำไรเพิ่มขึ้น และสำรองสูงด้วย” นายวิทัย กล่าว

ยกตัวอย่างเช่น การทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ สามารถลดดอกเบี้ยในตลาดที่ 28% ลง 10% เหลือ 18% ช่วยคนได้ 5 ล้านคน ซึ่งขายธุรกิจออกไปแล้ว เงินที่ลงทุนไปสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 3% ดีกว่าการฝากเงินให้กับสถาบันการเงินด้วยกัน และในช่วงโควิด ธนาคารออมสินออกโครงการจำนวน 63 โครงการ  ดึงหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น ประมาณ 3 ล้านคน  ธุรกิจเล็กที่ช่วยคน อาจดูไม่มากเมื่อคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อ แต่จำนวนหัวหลายล้านคนมากที่ช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุน กู้ที่ละ 1-3 หมื่นบาท เป็นการพัฒนาสร้างอาชีพ พัฒนาชุมชน  แก้ปัญหาความยากจน และบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาจจะแก้ไม่หมด แต่ก็ช่วยบรรเทาได้

นายวิทัยกล่าวว่า ประมาณต้นปี 2567 คาดว่าจะได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ นอนแบงก์ จะช่วยลดดอกเบี้ยในตลาดที่เคยจ่ายสูงถึง 33% ต่อปี ลงเหลือไม่เกิน 28% ประเมินตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคน เพื่อดึงคนเข้าระบบสินเชื่อ

นอกจากนั้นออมสินยังร่วมมือกับหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ขณะเดียวกันให้โจทย์กับทุกส่วนงานของออมสินคิดและทำโครงการที่มีส่วนช่วยเหลือสังคม ก่อให้เกิดความยั่งยืนจริงๆ โดยที่ธนาคารยังมีกำไรสูงกว่าในช่วงก่อนเกิดโควิด คาดว่าปีนี้จะมีกำไรจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนต.ค. มีกำไรแล้วกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีที่ 2556 ที่อยู่ระดับ 2.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากลดต้นทุนอย่างรุนแรง โดยวางเป้าหมายไว้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท และยังมีรายได้มาจากการทำธุรกิจ มาช่วยเหลือสังคมเข้ามาชดเชยการตรึงดอกเบี้ย ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ในปีนี้ อยู่ที่ 3.2% จะพยายาม ควบคุมไม่ให้เกิน 3% และเพิ่มเงินกันสำรองรวมกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท

ธนาคารออมสินมีกำไรเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในหลายครั้ง โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้คงที่มาตลอดช่วงครึ่งปีหลังปี 2565 และปี 2566 ตรึงตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 4 เป็นต้นมา ในภาวะปกติ ดอกเบี้ยจะต้องปรับขึ้นแล้ว 0.75% เพื่อต้องการช่วยบรรเทาภาระประชาชน ณ วันนี้ จากที่ออมสินเคยมีดอกเบี้ย MLR MRR และ MOR สูงกว่าปกติ เพราะมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด