HoonSmart.com>>”ธนาคารกรุงเทพ” (BBL) จัดงาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 67” เฟ้นสินค้าเกษตรคุณภาพส่งออก ราคาพิเศษ จาก 55 ผู้ประกอบการ ขายสินค้าเกษตรนวัตกรรม-ปลอดภัยต่อสุขภาพ สินค้าชุมชน เป็นของขวัญของฝากช่วงเทศกาลปีใหม่ มอบรางวัล 3 สุดยอดเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่น-ผู้บริหารห่วงโซ่ผลิตดีเด่น-เกษตรกรรุ่นใหม่ดีเด่น เปิดสัมมนา ปักเป้าหมายเป็น “เพื่อนคู่คิด” สนับสนุนผู้ประกอบการยกระดับสู่ Smart Farming เข้าสู่โลกยุคดิจิทัลแข็งแกร่งยั่งยืน
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นประธานเปิดงาน“วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2567” ณ บริเวณลานด้านหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม วันที่ 20 ธ.ค.2567
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้จัดงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าเกษตร “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2567” ภายใต้แนวคิด “80 ปี ธนาคารกรุงเทพ เพื่อนคู่คิด มิตรคู่เกษตรไทย” ที่ธนาคารได้เคียงข้างเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน โดยปีนี้มีเกษตรกรมาร่วมออกร้านถึง 55 ราย มีผลผลิตและสินค้าคุณภาพ ทั้งกลุ่มสินค้าเกษตรนวัตกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อสุขภาพ จำหน่ายสินค้าในราคาพิเศษ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 1,000-2,000 ราย สร้างเงินสะพัดภายในงานได้ราว 3-4 ล้านบาท
สำหรับงานนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการที่จะได้เพิ่มช่องทางการแนะนำสินค้าเกษตรคุณภาพสูงให้ผู้บริโภครู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการพบปะผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ที่มีทั้งกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสามารถต่อยอดการทำธุรกิจระหว่างกันเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง ยั่งยืนของธุรกิจได้ในระยะยาว
“ตลอดระยะเวลา 80 ปี ที่ผ่านมา ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนภาคการเกษตรของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ริเริ่มการให้มีสินเชื่อเพื่อการเกษตรในปี 2502 ซึ่งเป็นธนาคารแรกของไทย และริเริ่มโครงการเกษตรก้าวหน้าในปี 2542 และจัดงานวันเกษตรก้าวหน้าต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 17 เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในการผลิต นวัตกรรมเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านในยุคดิจิทัลและยุคแห่งการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารจะช่วยสร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมผลักดันภาคการเกษตร เพื่อไปสู่ยุคใหม่ด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายพิเชฐ กล่าว
ปัจจุบันที่ภาคเกษตรเข้าสู่ยุคที่ 3 คือยุคของนวัตกรรม ซึ่งจะต้องพึ่งพากระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ธนาคารกรุงเทพจึงได้เดินหน้าสร้างเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และความท้าทายใหม่ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) หรือเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ตลอดจนเรื่องการใช้ผลผลิตทางการเกษตรอย่างครบวงจร (Zero Waste) ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการสรรหาตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากการปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรรายอื่นๆ สนใจนำความรู้ไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
โอกาสนี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังได้จัดพิธีมอบรางวัล “เกษตรก้าวหน้า ปี 2567” เพื่อเชิดชูเกียรติ และส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปรับตัวและเกิดการพัฒนาโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิตมากขึ้น แบ่งเป็น 3 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย
รางวัลเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่น ได้แก่ นายธนโชติ ศรีรินทร์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ที.ฟาร์ม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อ ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อ เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็น Smart Farming โดยเริ่มต้นจากการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศและนำมาพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของตนเองได้สำเร็จ
“สิ่งที่ทำเริ่ม เกิดจากความคิดว่า เราจะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศได้อย่างไร เพราะบางครั้งการซื้ออุปกรณ์ต้องรอเวลาจัดส่ง ใช้เวลานาน ขณะที่การเลี้ยงสัตว์ต้องใช้ความเร็ว แต่กว่าจะมาถึงจุดที่สร้างโปรแกรมเลี้ยงไก่ได้ ใช้เวลา 6-7 ปี มีผิดพลาดบ้าง ต้องล้มลุกคลุกคลานมาถึงวันนี้สำเร็จมากกว่า 90% พยายามต่อยอด นำ AI มาเก็นข้อมูล ทำให้เข้าใจข้อมูลมากขึ้น”นายธนโชติกล่าว
ส่วนรางวัลผู้บริหารห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรดีเด่น ได้แก่ นางสาวนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟ จำหน่ายอุปกรณ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟครบวงจร สร้างเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือได้กว่า 1,000 ราย ทำให้เกิดความสมดุลรวมทั้งในส่วนของธุรกิจ ผู้คน และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน
“เรื่องนี้เกิดจากรุ่นพ่อสร้าง นำการปลูกกาแฟมาทดแทนการปลูกฝิ่น ต่อสู้กับยาเสพติด สร้างอนาคตให้กับที่ราบสูง เราจะสร้างแต่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะทำอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างคุณค่าของทรัพยากร สร้างซัพพลายเชน และส่งต่อรุ่นลูกรุ่นหลาน เดินหน้าหาความยั่งยืน”นางสาวนฤมลกล่าว
สำหรับรางวัลเกษตรกรรุ่นใหม่ดีเด่น ได้แก่ นายสุจิต จิตทิชานนท์ กรรมการ บริษัท เนวิลล์ ฟู้ด เซอร์วิส อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ทำฟาร์มไก่ไข่ออร์แกนิกแบบใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ลดต้นทุนการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพและดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนโดยรอบอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุจิต ในฐานะตัวแทนผู้รับรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ. 2567” ปีล่าสุด กล่าวถึง แนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนว่า ผู้ประกอบการในธุรกิจปศุสัตว์ต้องใส่ใจสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ นอกจากเรื่องคุณภาพสินค้าที่ต้องดีต่อสุขภาพแล้ว ทุกวันนี้ต้องดูไปถึง สวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare) ตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยงไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา มีข้อบังคับให้ฟาร์มต้องทำตามมาตรฐาน Animal Welfare อย่างเคร่งครัดแล้ว เช่นเดียวกับกระบวนการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทได้พัฒนาสูตรอาหารไก่โดยใช้หนอนแมลงวันลาย ซึ่งให้โปรตีนสูงและส่งผลกระทบน้อยกว่าการเลี้ยงด้วยถั่วเหลือง รวมถึงได้พยายามปรับมาใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ลดต้นทุน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตลอดระยะเวลาที่บริษัทดำเนินธุรกิจมาสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 122.445 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการประเมินโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
“ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ไม่เพียงแต่การปรับตัวภายในองค์กร แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบและความยั่งยืนต่อชุมชนโดยรอบไปพร้อมกันด้วย ที่ผ่านมาบริษัทจึงได้ช่วยรับขยะอาหารสดจากตลาดในชุมชนใกล้เคียงมาใช้เป็นอาหารสำหรับหนอนแมลงวันลาย ส่งเสริมให้ชุมชนหันมาเลี้ยงแมลงวันลายและนำมาส่งขายที่บริษัท รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่นำมูลไก่ของฟาร์มไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย ดังนั้น หากเราเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งเพื่อปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรู้จักเกื้อกูลกับชุมชนหรือสังคมรอบข้างได้เป็นอย่างดีแล้ว ธุรกิจของเราจะเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมีความยั่งยืน” นายสุจิต กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสัมมนาพิเศษ “เกษตรก้าวหน้า 2567” แนะเกษตรกรไทยรับมือความท้าทายจากจากระเบียบการค้าโลกใหม่ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม และการปรับใช้เทคโนโลยี AI กับภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างโอกาสใหม่ๆในตลาดโลกยุคดิจิทัล จากวิทยากรกูรูผู้เชี่ยวชาญที่ประสบผลสำเร็จจากการปรับตัว โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจได้แก่ หัวข้อ “ความท้าทายจากระเบียบโลกใหม่ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม : EUDR & CBAM” โดย รศ.ดร. วีระภาส คุณรัตนสิริ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หัวข้อ “Sustainability ด้านการเกษตร” โดยนายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, หัวข้อ “เทคโนโลยี AI กับภาคการเกษตร” โดย รศ.ดร.รวิภัทร ลาภเจริญสุข ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเสวนา “3 สุดยอด เกษตรกรก้าวหน้า ปี 2567” โดยผู้ได้รับรางวัล “เกษตรก้าวหน้า ปี 2567”
———————————————————————————————————————————————————–