คอลัมน์ความจริงความคิด : การบริหารเงินในปี 2568

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

แป๊บๆ ก็จะผ่านไปอีกปี แต่ช่วงปลายปีนี้กลับเป็นช่วงที่ดูหดหู่ยังไงไม่รู้ เพราะไม่ว่าจะเป็นข่าวการปิดโรงงาน การเลิกจ้าง คนตกงานมากขึ้น โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยรายงาน “ภาวะสังคมไทย” ประจำไตรมาสที่ 3/2567 ระบุว่า คนไทยว่างงานเพิ่มขึ้น จำนวน 4.1 แสนคน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566

การว่างงานเพิ่มมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดน้อยลง ทำนอง “รายได้หยุดหา แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้หยุดใช้”

การบริหารเงินในปี 2568 จึงควรดำเนินด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกและท้องถิ่น เพื่อให้การเงินของเรามั่นคงและมีศักยภาพในการเติบโต สิ่งที่ควรให้ความสนใจ ได้แก่:

1. วางแผนการเงินส่วนบุคคล
การออมและลงทุน: ตั้งเป้าหมายการออมเงินและกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม เช่น หุ้น กองทุนรวม พันธบัตร และสินทรัพย์ดิจิทัล
กองทุนฉุกเฉิน: เก็บเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือนของค่าใช้จ่าย

2. ติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินโลก
ในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่ Donald Trump ได้เป็นประธานธิบดีสหรัฐฯก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายเศรษฐกิจมากมาย กระทบกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก

ภาวะเงินเฟ้อ: ศึกษาอัตราเงินเฟ้อและผลกระทบต่อกำลังซื้อ
อัตราดอกเบี้ย: ปัจจุบันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระบบยากมากขึ้น เพราะสถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวปัญหาหนี้เสีย ดังนั้นหากไม่จำเป็น อย่าก่อหนี้ แต่หากจำเป็นต้องมีการกู้ยืม ก็ต้องเลือกแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำและเหมาะสม

3. ลดหนี้และบริหารหนี้สิน
ชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน เช่น หนี้บัตรเครดิต ฯลฯ ใช้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง และตรวจสอบเงื่อนไขก่อนทำสัญญา

4. เพิ่มความรู้ด้านการเงิน
ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนใหม่ ๆ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ที่เน้นความยั่งยืน

5. การเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณอายุ
ตรวจสอบสถานะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และการลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

6. บริหารรายรับ-รายจ่าย
ใช้เครื่องมือจัดการงบประมาณ เช่น แอปพลิเคชันการเงินส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และเพิ่มรายได้ด้วยงานเสริม

7. ความเสี่ยงทางการเงิน
ตรวจสอบและปรับปรุงประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันทรัพย์สินให้เหมาะสม พิจารณาประกันที่คุ้มครองในกรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ โดยเฉพาะประกันสุขภาพที่ในปี 2568 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และบริษัทประกันภัยมีแนวโน้มที่จะปรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพให้เป็นแบบ co-payment มากขึ้น (ซึ่งอาจรวมถึงแบบที่มีความรับผิดส่วนแรก หรือ Deductible ด้วย) โดยปัจจุบัน กรมธรรม์ประกันสุขภาพเอกชนในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแบบคุ้มครองเต็มจำนวน ”first dollar coverage”

สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจากอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น (ล่าสุดอยู่ที่ 12%) และความถี่ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น โดยเฉพาะบริการผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับการป่วยเล็กน้อยทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการนอนโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่า ”Simple Disease” (เกือบ 30% ของการเคลม คือการเคลมกลุ่มนี้) ส่งผลให้อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (loss ratio) ของบริษัทประกันสูงขึ้น ตามหลักการแล้ว กรมธรรม์ประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไข co-payment จะมีเบี้ยประกันที่ต่ำกว่าประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย มองในแง่ดี ประกันสุขภาพก็น่าสนใจมากขึ้น

เพราะในประเทศไทย เราซื้อประกันสุขภาพกันน้อยมาก เพราะเบี้ยแพง แถมบางทียังเคลมยากอีกด้วย จากข้อมูลปี 2566 ของ คปภ. ประเทศไทยมีผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพเอกชนรวมทั้งหมด 25.3 ล้านคน แต่โดยส่วนใหญ่เป็นกรมธรรม์แบบกลุ่ม (เช่น บริษัทต่างๆ) ซึ่งมีจำนวน 20.9 ล้านคน เป็นกรมธรรม์แบบรายบุคคลเพียง 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.7% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 40.8% และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ที่ 70% ญี่ปุ่นที่ 70% มาเลเซียที่ 22% และอินเดียที่ 12%

8. การปรับตัวต่อเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech)
เรียนรู้การใช้แอปการเงินหรือแพลตฟอร์มการลงทุนที่ทันสมัย พิจารณาใช้สกุลเงินดิจิทัลอย่างระมัดระวัง โดยศึกษาความเสี่ยงและโอกาส และอีกเหตุผลที่เราต้องเรียนรู้ก็คือ “มิจฉาชีพ” เรียนรู้มากกว่าเราอีก เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เป็นเหยื่อ การเรียนรู้เทคโนโลยีจะเป็นเกราะป้องกันเราได้เป็นอย่างดี

9. ภาษีและกฎหมายใหม่
ติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านภาษีและกฎหมายทางการเงิน อย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับประกันสังคมที่กำลังพิจารณาปรับปรุงอยู่ และทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายงบประมาณมาก มักจะมีการปรับปรุงกฎหมายหรือประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอยู่เสมอ ดังนั้น เราจึงควรติดตามกฎหมายและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้เต็มที่ เช่น RMF, SSF, TESG หรือ ประกันชีวิต ประกันบำนาญ ให้ครบถ้วน

10. การจัดการความเสี่ยงจากภายนอก
พิจารณาเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบ เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ ภัยธรรมชาติ หรือการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การบริหารเงินที่ดีในปี 2568 ก็คงไม่ต่างจากปีก่อนๆ คือ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และใช้ความระมัดระวังในทุกการตัดสินใจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

 
 
———————————————————————————————————————————————————–