HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ต้อนรับ “อินสไปร์ ไอวีเอฟ” (IVF) เริ่มเข้าซื้อขาย 11 ธ.ค. นี้ ขาย IPO 3.10 บาท ผู้ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก ระดมทุนไปขยายสาขา และลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โชว์ผลงานปี 66 กำไร 40.98 ล้านบาทพุ่งขึ้น 307% ส่วน 9 เดือนปีนี้ กำไรเพียง 16.72 ล้านบาท ลดลง 38.87% เนื่องจากเปลี่ยนนโยบายการตัดค่าเสื่อมราคาจาก 15 ปี เหลือ 10 ปี และซื้อเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บริษัทอินสไปร์ ไอวีเอฟ (IVF) เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มบริการ ในวันที่ 11 ธ.ค. 2567 บริษัทเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 130 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 3.10 บาท
นางสาวเกศิณี กุลดิลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินสไปร์ ไอวีเอฟ (IVF) เปิดเผยว่า บริษัทเน้นสร้าง Brand Awareness และพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพ บริษัทจึงให้ความใส่ใจต่อคุณภาพบริการด้วยมาตรฐาน AACI, ISO9001:2015,GHA และ Temos และให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ในการขยายสาขา ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจให้บริการดูแลสุขภาพ (wellness) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
IVF มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลังเข้าจดทะเบียน คือ กลุ่มนายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ถือหุ้น 46.82% นายพุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ 11.91% และนายบัณฑิต อนันตมงคล 4.20% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิภายหลังจากหักภาษีเงินได้ นิติบุคคล และเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่น ๆ
ทางด้านผลการดำเนินงานในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 40.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 307% จากกำไร 10.06 ล้านบาทในปีก่อน
ส่วนไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 4.55 ล้านบาท ลดลงจากจำนวน 15.85 ล้านบาท รวม 9 เดือนปีนี้กำไรทั้งสิ้น 16.72 ล้านบาท ลดลงจากจำนวน 27.35 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้กำไรในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ลดลง 10.63 ล้านบาทหรือ -38.87% มาจากรายได้จากการขายและให้บริการ 83 ล้านบาท ลดลง 2.97 ล้านบาทหรือ 3.44% จากการส่งเสริมการตลาดในกลุ่มลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนของลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีอัตราค่าบริการต่ำกว่าที่บริษัทเรียกเก็บจากลูกค้าต่างชาติ ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น 2.48 ล้านบาทหรอ 7.91% เป็น 33.84 ล้านบาท ทำให้กำไรขั้นต้นลดลง 9.93% เหลือ 49.44 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทมีต้นทุนค่าเเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการทบทวนนโยบายอายุการใช้งานเครื่องมือทางการแพทย์จาก 15 ปีเป็น 10 ปี และมีการซื้อเครื่องมือแพทย์เพิ่ม ได้แก่ เครื่องเพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryo Scope plus) และเครื่องวิเคราะห์เซลล์สืบพันธุ์ (Semen analysis) ส่งผลให้ต้นทุนค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น
“สาเหตุหลักที่ทำให้รายได้จากการให้บริการ ขณะที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากค่าเสื่อมราคาและค่าตอบแทนบุคลากร ทำให้กำไรขั้นต้นลดลง คิดเป็นสัดส่วน 59.37% ของค่าใช้จ่ายในการขาย”
สำหรับ IVF ผู้ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากตั้งแต่การให้คำปรึกษา การวางแผนการรักษาภาวะมีบุตรยาก ตลอดจนการเลือกรักษาด้วยวิธีต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น ICSI และ IUI เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ของคู่สมรส โดยมีทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีสถานที่ให้บริการตั้งอยู่ที่ อาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ พื้นที่ประมาณ 1,000 ตร.ม. มีแพทย์แบบประจำ 1 ท่าน แพทย์แบบชั่วคราว 6 ท่าน และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการฯ 6 ท่าน บริษัทแบ่งการให้บริการเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก และการให้บริการอื่นๆ เช่น การให้บริการสร้างเสริมสุขภาพแก่คู่สมรสที่มารับบริการรักษาผู้มีบุตรยาก การตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อน การรักษาภาวะเจริญพันธุ์ 2. การให้บริการเวชศาสตร์ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพแก่บุคคลทั่วไป โดยในงวด 9 เดือน 2567 มีสัดส่วนรายได้จากบริการทั้ง 2 กลุ่ม และรายได้อื่นร้อยละ 90 : 8 : 2 ตามลำดับ ทั้งนี้มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่ร้อยละ 80-90 เป็นลูกค้าชาวต่างชาติ
IVF มีทุนชำระแล้วหลัง IPO 220 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 310 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 130 ล้านหุ้น เสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จำนวนไม่น้อยกว่า 57.5 ล้านหุ้น ผู้ลงทุนสถาบันไม่เกิน 40 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทไม่เกิน 19.5 ล้านหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่เกิน 13 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 29 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2567 ในราคาหุ้นละ 3.10 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 403 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,364 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 44.93 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุด (1 ต.ค. 66-30 ก.ย. 67) ซึ่งเท่ากับ 30.36 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.069 บาท โดยมีบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย
———————————————————————————————————————————————————–