‘การบินไทย’ เข้าสู่ยุคทอง ทะยานขึ้นสู่ขอบฟ้าใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

HoonSmart.com>>”การบินไทย” (THAI) พลิกโฉมองค์กรครั้งสำคัญ สู่บริษัทเอกชนที่มีความคล่องตัว อิสระ และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงขึ้น หลังดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรและธุรกิจในหลายด้าน ล่าสุดประสบความสำเร็จจากการแปลงหนี้เป็นทุนมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท พลิกส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเฉพาะกิจการเป็นบวกภายในสิ้นปี 2567 มุ่งเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถยกเลิกการฟื้นฟูกิจการภายในไตรมาส 2 ปี 2568 มั่นใจด้วยแบรนด์และภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง และผลการดำเนินงานที่พิสูจน์การเติบโตอย่างมั่นคง

การบินไทยเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีของบริษัทขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิอย่างแข็งแกร่ง จากกิจการที่มีวิกฤตมาอย่างยาวนาน ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แบกภาระหนี้สะสมกว่า 240,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เมื่อเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐต้องปิดประเทศ ทำให้ธุรกิจเดินต่อไปไม่ไหว ขาดทุนสะสมสูงจนต้องเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการในปี 2563

ผลประกอบการที่กลับมาโตอย่างโดดเด่น

หลังจากที่กระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทยให้กับกองทุนวายุภักษ์ คงเหลือหุ้นเพียง 47.9% ของทุนชำระแล้ว ส่งผลให้การบินไทยมีสถานะพ้นจากการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ทันที ทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ตัดสินใจได้รวดเร็ว เดินตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด ผ่านการปรับโครงสร้างองค์กร จากบุคลากรเกือบ 30,000 คนในปี 2562 ลงไปกว่าครึ่งหนึ่งในปี 2565 ตลอดจนปรับลดสิทธิประโยชน์ต่างๆ พร้อมด้วยการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน การปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจไทยสมายล์ การปรับโครงสร้างทางการเงิน การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่มีเหตุผิดนัด รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพย์สิน และเพิ่มรายได้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพดีขึ้นในทุกๆ มิติ กำไรทุกปี โดยเฉพาะในปี 2566 มี EBITDA (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน) สูงถึง 51,600 ล้านบาทและกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 28,123 ล้านบาท และสำหรับผลประกอบการ 9 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ สามารถทำรายได้ 1.36 แสนล้านบาท มี EBITDA (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน) อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 15,221 ล้านบาท

“ผลงานที่สะท้อนออกมาดีในทุกๆ ด้าน ภายใต้สุขภาพของการบินไทยที่แข็งแรง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุน ราคาหุ้นละ 2.5452 บาท โดยเฉพาะส่วนที่ให้แปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) ที่มีเจ้าหนี้แสดงเจตนาใช้สิทธิเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่รองรับ โดยมีการจัดสรรที่ 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท และเมื่อรวมกับส่วนที่เป็นการแปลงหนี้เป็นทุนภาคบังคับ (Mandatory Conversion) ที่มูลค่า 37,601.9 ล้านบาท และการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักอีกมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ภายหลังการแปลงหนี้เป็นทุนที่เสร็จสิ้นในช่วงเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา การบินไทยยังจะมีอีกหนึ่งหมุดหมายที่สำคัญคือการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกส่วนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ ซึ่งคาดว่ากระบวนการปรับโครงสร้างทุนจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค. 2567 และจะมีการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงไตรมาส 2/2568 เพื่อแต่งตั้งกรรมการใหม่ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และนำหุ้นกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ไม่เกินกลางปี 2568”

เดินหน้า เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ

หลังจากประสบความสำเร็จในกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในส่วนถัดไป โดยเสนอขายจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานของบริษัทฯ โดยหากมีหุ้นเหลือจากการจัดสรรตามลำดับ บริษัทฯ จะเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ในราคาหุ้นละ 4.48 บาท โดยราคาที่เสนอขายถูกกำหนดโดยผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น การประเมินมูลค่ายุติธรรมด้วยวิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนตลาด (EV/EBITDA, P/E) และวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) รวมถึงข้อจำกัดและโครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟู ความเสี่ยงที่หุ้นจะกลับมาซื้อขายในตลาดฯ ใน 5-6 เดือน และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของบริษัทฯ สามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด ได้แก่
• สำนักงานใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) หรือจองซื้อผ่านโทรศัพท์บันทึกเทป (เฉพาะนิติบุคคล หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน หรือ ลูกค้าที่มีบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทรเท่านั้น)
• สำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy)
• ระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai บน Krungthai NEXT Application (สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยจะต้องมีบัญชีธนาคารผ่านระบบ Krungthai NEXT)
และสำหรับพนักงานการบินไทยสามารถจองซื้อและชำระเงินได้ผ่านอีกหนึ่งช่องทางได้แก่ ระบบออนไลน์ผ่าน Application DIME! (เฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีบัญชีหลักทรัพย์ไทยกับ DIME! เท่านั้น

ทั้งนี้นักลงทุนไม่ต้องกังวลถึงเจ้าหนี้ที่ได้หุ้นมาในราคา 2.5452 บาท เนื่องจากผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ทุกรายที่ได้รับการจัดสรรหุ้นที่ราคา 2.5452 บาท ขายหุ้นจนกว่าจะครบ 1 ปีนับจากวันที่หุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยหลังจากวันที่ครบกำหนด 6 เดือน สามารถขายได้จำนวนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นที่ถูกห้ามขาย ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้รวมถึงกรรมการ ผู้บริหารของการบินไทย ตลอดจนผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินกว่า 5% ของทุนชำระแล้ว โดยนับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ถือเกี่ยวข้องด้วย เช่น กระทรวงการคลัง และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

เพิ่ม’เส้นทาง-ฝูงบิน-ขายตั๋วผ่านช่องทางตรง’

บริษัทฯ มุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่ง ภายใต้กลยุทธ์ การให้บริการแบบเครือข่าย (Network Airline) ผ่านการขยายเส้นทางที่จะมอบประสบการณ์การเชื่อมต่อจุดบิน เพิ่มฝูงบิน ตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งการตลาดสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจากระดับ 26% (งวด 9 เดือน ปี 2567 ) เป็น 35% ภายใน 5 ปี พร้อมมุ่งมั่นในการพัฒนา Digital Marketing เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วโลกได้มากขึ้น โดยการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ในการโปรโมตเที่ยวบิน โปรโมชั่นพิเศษ พร้อมทั้งการปรับปรุงระบบการจองบัตรโดยสารทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน THAI Mobile ของการบินไทย เพื่อประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นของลูกค้า เพิ่มความสามารถการแข่งขันระดับโลก และสร้างโอกาสจากการขายตรงผ่านช่องทางของตัวเอง (Direct Sale) โดยในปี 2566 มีรายได้จากช่องทาง Direct Sale เพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 33% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยในอนาคต บริษัทฯ คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนช่องทางการขายตรงให้มากขึ้น

ส่วน “กลยุทธ์ด้านเครือข่ายเส้นทางบิน” ในปี 2567 บริษัทฯ มีเส้นทางการบินไปยังปลายทาง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 กว่า 62 จุดบิน ใน 27 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 54 จุดบินในต่างประเทศในทวีปยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย และ 8 จุดบินภายในประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อและเส้นทางบินที่มีกำไรสูง ใช้ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ โดยอาศัยประโยชน์จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในฐานะท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยและศูนย์กลางการบินสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทฯ ยังมีการนำระบบบริหารเครือข่ายเส้นทางบิน (NMS: Network Management System) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และวางแผนเส้นทางการบินให้มีความเหมาะสมกับสภาพตลาดของแต่ละเส้นทางทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงจัดทำตารางบินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การเป็นสายการบินแบบเครือข่าย (Network Airline) และเป้าหมายที่จะเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

ตักตวงโอกาสจากตลาดโลก ที่คาดการณ์โต 2.1 เท่าในปี 2586

บริษัทฯ จะมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มด้วยวิธีการโปร่งใส ผ่านการเจรจาตรงกับบริษัทผู้ผลิต โดยคำนึงถึงการลดต้นทุนเชื้อเพลิงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปรับปรุงฝูงบิน ด้วยการลดแบบเครื่องบินจาก 8 เหลือ 4 แบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และลดค่าใช้จ่าย เช่น การซ่อมบำรุง ขยายเส้นทางใหม่ๆ เพื่อหาโอกาสกับการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกเติบโตถึง 2.1 เท่าในช่วง 20 ปีข้างหน้า (2566-2586) หรือเติบโตเฉลี่ย 3.8% ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตเฉลี่ยมากที่สุดที่ 5.3% ภายในสิ้นปี 2567 การบินไทยจะมีเครื่องบินจำนวน 79 ลำ คาดว่าในปี 2572 จะมี 143 ลำ และปี 2576 มีทั้งสิ้น 150 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดจำกัดในการแข่งขัน

“การเติบโตส่วนใหญ่มาจากเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของการบินไทย จึงต้องตักตวงโอกาสนี้ให้มากที่สุดรอบนี้ โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นที่จะใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการบินที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่สามารถเชื่อมต่อกับทุกจุดหมายปลายทางสำคัญผ่านเครือข่ายเส้นทางบินของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในเส้นทางบินระหว่างทวีป ได้แก่ ทวีปยุโรปและทวีปออสเตรเลีย โดยปรับความถี่และเวลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อเที่ยวบิน”

กลุ่มธุรกิจอื่นๆ สนับสนุนการบิน เพิ่มโอกาสสร้างรายได้

ขณะเดียวกัน การบินไทยยังมีการเสริมสร้างขีดความสามารถในการเพิ่มรายได้ผ่านกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เพื่อกระจายแหล่งที่มา และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว มีโครงการสำหรับการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา มุ่งสู่เป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน

รายได้-กำไรโตแกร่ง

บริษัทฯ มีรายได้รวมเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2564 -2566 ) คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) เท่ากับ 35.6% ส่วนผลประกอบการ 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 มีรายได้รวม 135,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 72% หากเทียบกับช่วงก่อนฟื้นฟูกิจการในปี 2562 และมีกำไรสุทธิ 15,221 ล้านบาท มาจากปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 19.2% จำนวนผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคน เติบโต 14.7% ชั่วโมงการใช้เครื่องบินโดยเฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566

“ผลงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวชี้วัดต่างๆ ที่สำคัญที่ล้วนแล้วแต่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในการกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง”

บริหารจุดเสี่ยงค่าเงิน-ราคาน้ำมัน

ธุรกิจการบินหัวใจหนึ่งอยู่ที่การบริหารความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงิน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากรายได้และค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ไม่สามารถใช้สกุลเงินเดียวกันได้ทั้งหมด การผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานได้ บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการกู้ยืมในสกุลเงินที่สอดคล้องกับยอดสุทธิของรายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงการทำสัญญาตราสารอนุพันธ์ เช่น Cross Currency Swap (CCS) และการแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Contract) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จำเป็นต้องยกเลิกสัญญาตราสารอนุพันธ์ทั้งหมด ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ ได้รับวงเงินจากสถาบันการเงินในการทำธุรกรรมบริหารความเสี่ยง เช่น การซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Contract) ธุรกรรม Cross Currency Swap (CCS) และ Interest Rate Swap (IRS) เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสร้างความมั่นคงให้แก่ผลการดำเนินงานในอนาคต

ส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันเครื่องบินเป็นค่าใช้จ่ายหลักของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานปัจจุบัน บริษัทฯ ติดตามผลการเก็บค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อคำนวณอัตราเรียกเก็บให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด การแข่งขัน และความผันผวนของราคาน้ำมันเครื่องบิน รวมถึงมีนโยบายประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันผ่านสัญญาตราสารอนุพันธ์เพื่อลดความผันผวนและควบคุมต้นทุน อย่างไรก็ตาม สัญญาดังกล่าวถูกยกเลิกหลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อกลับมาดำเนินการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันในอนาคต

“วันนี้ การบินไทยพลิกโฉมไปอย่างมาก พร้อมก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ “Fly for The New Pride” ให้ทะยานโลดแล่นบนท้องฟ้าได้ไกลกว่าเดิม ดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวในฐานะบริษัทเอกชน รับมือกับความท้าทาย และปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต”

หมายเหตุ- การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ

 
 
———————————————————————————————————————————————————–