ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง.คงดอกเบี้ยถึงสิ้นปีนี้ หลังท่องเที่ยวและส่งออกแผ่ว ติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาจมีผลต่อจังหวะอัตราดอกเบี้ยไทยปีหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย น่าจะคงอัตราดอกเบี้ย นโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ รวมถึงการประชุมรอบสุดท้ายในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินบางท่านจะเริ่มส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทย แต่คงต้องยอมรับว่าโอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นนโยบายการเงินในปีนี้คงมีไม่มาก หลังจากที่ภาคเศรษฐกิจต่างประเทศของไทย ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออกมีสัญญาณอ่อนแรงลงพร้อมกัน แม้ว่าบางส่วนจะมาจากปัจจัยเฉพาะ แต่ก็น่าจะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินคงจะให้น้ำหนักการดำเนินนโยบายการเงินไปที่การรักษาเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจต้องอาศัยแรงหนุนจากปัจจัยในประเทศ ทั้งจากการบริโภค รวมทั้งการลงทุน
ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในจังหวะนี้อาจจะสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม ผ่านค่าเงินบาทที่อาจจะปรับแข็งค่าขึ้นซึ่งจะไม่เป็นผลดีความสามารถในการแข่งขัน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้ง อาจส่งผลลบต่อภาคการบริโภคและการลงทุนภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น
ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับที่ทางการสามารถบริหารจัดการได้ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะยังคงมีจำกัดต่อเนื่องไปจนถึงปี 2562 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่คงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าราคาน้ำมันจะยังคงทรงตัวในระดับค่อนข้างสูง นอกจากนี้ มาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีการบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 คงเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้การควบคุมความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมาเป็นระยะเวลานานไปได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ กนง. น่าจะยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในปีหน้า ที่อาจจะมีน้ำหนักต่อการพิจารณาจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คงมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ พัฒนาการของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึง ผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดการเงินในประเทศตลาดเกิดขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของเฟด ตลอดจน ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่คงจะมีความแตกต่างกันมากขึ้น
ด้านพัฒนาการของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากความเชื่อมโยงด้านการค้าและเศรษฐกิจของจีนและอาเซียนที่มีความใกล้ชิด ทั้งนี้ แม้ว่าทางการสหรัฐฯ และจีนส่งสัญญาณที่จะหาทางในการคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าในการประชุม G20 ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ยังมีความเสี่ยงที่การเจรจาดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม อันส่งผลให้ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีการค้าจีนในรอบ 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นปี 2562 รวมทั้ง อาจจะพิจารณาเก็บภาษีสินค้าที่เหลือของจีนอีก 2.67 แสนล้านดอลลาร์ฯ ยังมีอยู่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ทางการจีนดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น สวนทางกับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด อันอาจจะเป็นประเด็นสร้างความผันผวนของตลาดเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้ง กดดันให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงได้อีก อันกลายเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งโดยรวมจะมีผลต่อแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่คงปรับลดลง
ผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของเฟด เนื่องจากความเปราะบางของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายๆ ประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้มีโอกาสที่ประเทศที่มีเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศอ่อนแออาจจะเผชิญความผันผวนของค่าเงิน และกดดันให้ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงได้
นอกจากนี้ ความกังวลต่อสถานะการเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ อาจจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายๆ ประเทศปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจจะกระทบกับภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในท้ายที่สุด อันคงเป็นปัจจัยท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ในระยะข้างหน้า ที่คงจะมีความแตกต่างกันมากขึ้น ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่คงผันผวนมากขึ้น
ทั้งนี้ ภายใต้สุมมุติฐานที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่จำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะเริ่มพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายไตรมาส 1/2562 หากโมเมนตัมของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น