“การบินไทย” อ่วมไตรมาส 3/61 ขาดทุนสุทธิ 3.7 พันล้านบาท ขาดทุนพุ่ง 103% จากงวดปีก่อนขาดทุน 1.8 พันล้านบาท ฉุด 9 เดือนขาดทุน 4 พันล้านบาท ต้นทุนน้ำมันเพิ่มและขาดทุนด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน
บริษัท การบินไทย (THAI) แจ้งผลดำเนินงานไตรมาส 3/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2561ขาดทุนสุทธิ 3,700.60 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 1.70 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 103.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 1,824.81 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.84 บาท ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 4,082.23 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 1.87 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 5.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 3,878.82 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 1.78 บาท
บริษัทชี้แจงว่า ในไตรมาส 3/2561 ได้ดำเนินการตามแผนฟิ้นฟูธุรกิจปี 2561 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวม 6 ล้านคน ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 3 ปกติเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่อเที่ยว การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินยัคงรุนแรง ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในอัตราสูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ความต้องการเดินทางลดลงและต้นทุนเพิ่ม อีกทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงเดือนก.ย.2561 ในญี่ปุ่น ฮ่องกง ทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนหนึ่ง ประกอบกับการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนผลกระทบอุบัติเหตุางทะเลที่ภูเก็ตมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก
ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงาน 3,934 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนกำไร 300 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,259 ล้านบาท ลดลง 11.3% จากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 3,499 ล้านบาท หรือ 29.4% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 41% และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 1,862 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานและค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มขึ้น
ขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้น 1,025 ล้านบาท หรือ 2.2% เป็น 47,953 ล้านบาท จาก 46,928 ล้านบาทในไตรมาส 3/2560 สาเหตุสำคัญ เนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 304 ล้านบาท หรือ 0.8% จากปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณีย์ภัณฑ์เพิ่มขึ้น 561 ล้านบาท หรือเพิ่ม 10.9% และรายได้จากการให้บริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท หรือเพิ่ม 12.3%
บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 371 ล้านบาท แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 299 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 3,686 ล้านบาท ขาดทุนมากกว่าปีก่อน 1,872 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่ม 103.2% โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,701 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 1.70 บาท ขาดทุนมากกว่าปีก่อน 0.86 บาท ขาดทุน 102.4%