WHA ชู”เทคโนโลยี” เปลี่ยนโลก นำธุรกิจ-สังคมเติบโตยั่งยืน

HoonSmart.com>>ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น เปิดบ้านครั้งแรก WHA Open House 2024 โชว์ศักยภาพธุรกิจ ชูวิสัยทัศน์สู่การเป็น Tech and Sustainable Company ขับเคลื่อนกำไร สังคม เศรษฐกิจ เติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ในฐานะประธานพิธีเปิดงาน กล่าวว่า “โลกกำลังเผชิญกับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยโควิด-19 ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่แน่นอนและ Disrupt รูปแบบการดำเนินชีวิตและธุรกิจ  WHA ตระหนักถึงความไม่แน่นอนนี้ จึงให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อม ปรับเปลี่ยนเป้าหมายธุรกิจจากเดิมที่เน้นกำไร มาเป็นการสร้างความยั่งยืน สร้างคุณค่าให้ชุมชนและสังคม พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ  งาน Open House ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจ แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนสร้างพันธมิตร และความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม  บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (WHA) กล่าวว่า “WHA Open House 2024: Explore – Discover – Shape the Future เป็นการเปิดบ้านครั้งแรกเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ WHA Group ในฐานะต้นแบบของธุรกิจที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสร้างและพัฒนาการเติบโตของอุตสาหกรรมระดับโลกจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างสมดุล สอดคล้องกับวิสัยทัศน์   WHA: WE SHAPE THE FUTURE และความมุ่งมั่นในการเป็น Tech-Driven Organization งานในครั้งนี้จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และโอกาสทางธุรกิจ ที่ช่วยต่อยอดการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับสากล จึงขอเชิญชวนพันธมิตรทางธุรกิจและผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

“ภายใต้การทำธุรกิจเราจะดูเทรนด์ 3 เรื่องหลักๆ คือ ภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน แล้วนำมาวางแผนกลยุทธ์ ทำให้เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ในทุกสถานการณ์ สะท้อนผ่านผลประกอบการที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ติดต่อกันมา 2 ปี”น.ส.จรีพร กล่าว

น.ส.จรีพร กล่าวว่า บริษัทมี 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย  โลจิสติกส์ ที่มีพื้นที่มากกว่า 3.1 แสนล้านตารางเมตร บน 70 โลเคชั่น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่ 7.8 หมื่นไร่ 13 นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน คือเรื่องน้ำ ที่มีการจัดการน้ำและขาย รวม 168 ล้านลูกบาศน์เมตร พลังงาน 957 เมกะวัตต์ และและดิจิทัลโซลูชัน ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 38 โครงการ และมีแอพพลิเคชั่นมากกว่า 50 แอพ ทำให้ทรัพย์สินรวมถึงกองรีทด้วยมากกว่า 200,000 ล้านบาท

จากนิคมอุตสาหกรรม ทั้งหมด 13 แห่ง อยู่ที่ไทย 12 แห่ง จะมีเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง และจะขยายเพิ่มอีก 2 แห่ง ส่วนเวียดนามมี 3 แห่ง จะขยายขึ้นอีก 3 แห่ง

12 นิคมฯดึงเงินลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท

สำหรับนิคมฯ ในไทย ปี 2563-2567 ลูกค้าจีนประมาณ 67% แต่ถ้ารวมทั้งหมดจีนอยู่ที่ 23% ญี่ปุ่นยังเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ 27% ซึ่งลดลงจาก 37% ในปี 2560

จากนิคม 12 แห่ง สามารถดึงเงินลงทุนได้มากกว่า 1.6 ล้านล้านบาท เกิดการสร้างงาน จ้างงานถึง 4 แสนตำแหน่ง และกระจายรายได้ให้ชุมชนมากมาย เมื่อเกิดการผลิตแล้วส่งออกมากกว่า 80%

สำหรับธุรกิจดิจิทัล จะทำเรื่องสนับสนุนธุรกิจหลักๆแล้ว ยังมีการสร้างสินค้าใหม่เพื่อช่วยลูกค้าด้านต่างๆ และทำธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

“เป้าหมายสูงสุดของเรา คือ การสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ และเป็นผู้ให้และ สร้างความเจริญ สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับผู้คนและสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สู่เป้าหมายสูงสุด คือสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย”น.ส.จรีพร กล่าว

น.ส.จรีพร กล่าวว่า ในปี 2568 จะมีการตั้งแผนกความยั่งยืน และจะมีการลงทุนในเรื่องของความยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะช่วยผลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ

ทั้งนี้ มุ่งเป้าไปที่การใช้พลังงานสะอาด การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 พร้อมตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero ในปีพ.ศ. 2593 และการนำเสนอโครงการที่ดำเนินการร่วมกับพาร์ตเนอร์        คู่ค้า ลูกค้า และชุมชน อาทิ “โครงการ WeCycle” เป็นโครงการที่ WHA และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA  Group เก็บพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก “โครงการ Shine Brighter with WHA” เพื่อ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของโรงเรียนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม “โครงการปันกัน” เพื่อช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายของชาวชุมชนอผ่านแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น

ธุรกิจยังเป็นธุรกิจเดิม ทั้ง โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม น้ำ พลังงาน แต่รูปแบบการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป วิธีการนำไปใช้จะเปลี่ยนไปจากการสร้างอนาคตด้วยนวัตกรรมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในทั้ง 4 ธุรกิจหลักๆ โดยเป็นผู้บุกเบิกการสร้างคลังสินค้าแบบ Built to Suit และโซลูชันโลจิสติกส์สีเขียวเพื่อธุรกิจยุคใหม่ ในธุรกิจโลจิสติกส์ การทำนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (SMART ECO Industrial Estates) ในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

ด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการสาธารณูปโภคและพลังงานด้วยเทคโนโลยี AI เช่น Solar Forecasting, Solar Anomaly Detection, และ RO System Performance Forecasting
และธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน ที่มีโครงการดิจิทัลที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็น Tech and Sustainable Company และโซลูชันดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ

ขณะนี้ กำลังเดินหน้า โมบิลลิกส์ (Mobilix) โซลูชันกรีนโลจิสติกส์ครบวงจรครั้งแรกของไทย ด้วย 3 บริการหลักได้แก่ บริการให้เช่ารถไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า และโมบิลิกส์ซอฟต์แวร์โซลูชันที่ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับภาคธุรกิจ คาดว่าจะมียอดเช่าซื้อถึง 20,000 คัน ภายใน 5 ปี เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการสูงจากลูกค้าต่างชาติ

“ที่เราเน้นเรื่อง EV ขนส่ง เพราะได้ประโยชน์สูงสุด จากการมีการวิ่งเยอะ ถ้ารถ 1 คันวิ่งได้วันละ 1,000 กิโลเมตรจะสามารถเซฟคอร์ส รถ 35,000 บาทต่อคัน ช่วยลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มาก ลูกค้าที่เป็น Global มีความต้องการรถ EV มากๆ” น.ส.จรีพร กล่าว

รวมถึง มีแผนที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆ เข้าร่วมงานกับทาง WHA Group ที่พร้อมเติบโตไปด้วยกัน ที่ผ่านมา WHA Group เป็นหนึ่งในองค์กรที่คนยุคใหม่อยากร่วมงานด้วยการันตีจาก 3 รางวัลที่โดดเด่น คือ รางวัลสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นจาก คินเซนทริค (ประเทศไทย) ประจำปี 2566 และในปี 2567 รางวัล “HR Asia: Best Companies to Work for in Asia” และ รางวัล “HR Asia: Sustainable Workplace Awards” จากนิตยสาร HR Asia

“ถ้าเรายังคงทำอินฟราสตรัคเจอร์ไปเรื่อยๆ ก็ยังโต แต่โตไปเรื่อยๆ แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เกิดการเติบโตเป็นแบบทวีคูณอย่างรวดเร็วและยั่งยืน”น.ส.จรีพร กล่าว

ถอดสมการเปลี่ยนผ่าน
สู่บริษัทเทคโนโลยี +ยั่งยืน

น.ส.จรีพร กล่าวว่า สิ่งแรกในการที่จะเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การทำธุรกิจบนเทคโนโลยีและมีความยั่งยืน คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์การ ให้คิดและทำใน 2 รูปแบบ ภายใต้ 5 ค่านิยมองค์กร
เฟสแรก คือ นวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) เฟส 2 คือ การทำงานบนดิจิทัล (Digital Transformation)

การทำ Digital Innovation ในธุรกิจหลัก 4 กลุ่มที่ช่วงนั้นมีการเติบโตที่สูงมาก เริ่มจากผู้บริหารระดับสูงที่พร้อมเปลี่ยน แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง ก็ไปจับมือกับบริษัทเทคโนโลยี เพื่อสร้างขึ้นมา

ขณะเดียวกันก็มี วางรากฐานระบบนิเวศน์ ที่จะทำ Digital Transformation เพื่อรักษาความเป็นผู้นำทางธุรกิจเอาไว้ต่อไป และ สร้างธุรกิจใหม่ ในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดรายได้ใหม่ขึ้นมา และต้องเป็นผู้นำในตลาดด้วย

ปี 2566 มีการทำแบรนด์ใหม่ เป็นพันธมิตรที่ร่วมบุกเบิก (pioneering Partner) ที่จะช่วยให้คู่ค้าเราไปต่อได้ จากเดิมเป็นเพียงพันธมิตร เพิ่มเรื่องการทำงานแบบ Agile การประสานความร่วมมือ คนเราทำผิดกันได้ สามารถทำได้ การให้เกียติ และเชื่อใจกัน โดยที่วัฒนธรรม 5 ด้านเดิมยังคงอยู่ คือ เป็นคู่คิด สุจริต ที่หนึ่งในใจ รอบรู้คิดไว ล้ำกว่าใคร โดย 6 วัฒนธรรมใหม่นี้ จะเป็นพื้นฐานหลักที่ทำให้เราเติบโตต่อไปได้

“เราไม่เคยกลัวเทคโนโลยี เราบอกมาเสมอและเชื่อมาตลอดว่าเทคโนโลยีจะทำให้เราเติบโตไป เร็วขึ้น เราใช้เงินลงทุนเรื่องทรานฟอร์มสู่องค์กรที่เป็นเทค ไปแค่ 160 ล้านบาท ทำให้เกิดโปรเจคต่างๆมากมายที่สามารถจับต้องได้ และทำให้เรามีกำไรตั้งแต่ปีแรก”น.ส.จรีพร กล่าว