HoonSmart.com>>”ปตท.”(PTT) เพิ่มความชัดเจนกลยุทธ์ลงทุนและบริหารสินทรัพย์ สร้างสมดุลรายได้-กำไร-ลดคาร์บอน ผลักดันธุรกิจใหม่ที่มีโอกาส CSS ไฮโดรเจน ก๊าซธรรมชาติ (LNG) ถอยลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถ EV ให้ฟ็อกซ์คอนน์ฯทำต่อ กลุ่มจับมือรุกสถานีชาร์จ EV แบรนด์เดียว ส่วนธุรกิจเรือธง เดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุน ปิโตรเคมี โรงกลั่น Life Science คาดชัดเจนต้นปี 68 สั่ง”ไทยออยล์”สร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ให้เสร็จ ลั่นหุ้นปตท.มีเสถียรภาพ เงินปันผลมั่นคง
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.(PTT) เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.มีธุรกิจมากมาย นักลงทุนอยากเห็นความชัดเจนเรื่องการลงทุนและการบริหารสินทรัพย์ หลังปรับกลยุทธ์รอเสนอเข้าบอร์ดธ.ค.นี้ มุ่งเน้นการเติบโตของกำไรและรายได้จากประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทั้งการ synergyในกลุ่ม และลดค่าใช้จ่ายที่ทำได้ดีถึง 8% จากเป้าที่ตั้งไว้ 5%
ภาพในระยะกลางจะเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ โดยมองเห็นโอกาสจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน โดยจะเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของ ปตท.เองและบริษัทในกลุ่ม รวมถึงการเปิดให้บริการเผื่อบริษัททั่วไปด้วย บริษัทจะมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ เพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลัก ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต รวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (LNG) จะมุ่งเน้นการนำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ขณะเดียวกันธุรกิจที่ลงทุนไปแล้ว เมื่อปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก ก็ต้องปรับตัวหรือการหาพันธมิตรที่มีจุดเด่น เช่น วัตถุดิบ ตลาดที่ดีกว่า ทำให้ความร่วมมือกัน 1+1 ต้องได้มากกว่า 2 ในส่วนโครงการร่วมทุนกับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มฐานรถ EV มูลค่าลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ปัจจุบันยุติการก่อสร้างไปก่อน กำลังเจรจากับ ฟ็อกซ์คอนน์ฯเพื่อให้เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจต่อ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญมากกว่า
ทั้งนี้โรงงานผลิตรถ EV ภายใต้การร่วมทุนของ บริษัท อรุณพลัส ในเครือ ปตท.ในสัดส่วน 60% และ ฟ็อกซ์คอนน์ฯ 40% ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยกำลังผลิตเฟสแรกที่ 50,000 คัน/ปี
นอกจากนี้ ธุรกิจ Life Science หรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่ปตท. รุกเข้าสู่ธุรกิจผลิตยาและสุขภาพครบวงจร ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ซึ่งไม่ชำนาญในการตัดสินใจธุรกิจแบบวันต่อวัน จะต้องหาพาร์ทเนอร์เข้ามาลงทุน ได้ทั้งแหล่งเงินทุนและช่่วยให้การตัดสินใจรวดเร็วขึ้น โดยปตท.จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง และเมื่อมีความพร้อมก็จะส่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เป็นเรือธง ในปิโตรเคมี โรงกลั่น ที่กำลังเร่งหาพันธมิตร คาดว่าจะมีความชัดเจนในต้นปี 2568 ซึ่งจากการไปเจรจาก็ได้รับความสนใจมาก เนื่องจากกลุ่มปตท.อยู่ในธุรกิจนี้มานาน สามารถลงทุนต่อยอดได้ไม่ยากนัก
สำหรับบริษัท ไทยออยล์ (TOP) ที่กำลังเผชิญปัญหากับผู้รับเหมาช่วงโครงการพลังงานสะอาด (CFP) บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ส่งทีมเข้าไปให้คำแนะนำในเรื่องเกณฑ์และกฎหมาย ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของไทยออยล์ โโยจะต้องก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งบริษัทไม่มีปัญหาในเรื่องเงินทุน เพราะมี EBITDA เป็นบวก มีเม็ดเงินลงทุนเพียงพอ เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
“นโยบายและกลยุทธ์ของทั้งกลุ่ม ดูให้ดี หากมีประโยชน์ก็ทำ แต่ถ้าไม่ดีก็ถอยออก ซึ่งทำไปแล้ว เชื่อว่าปี 2568 จะดีขึ้น”นายคงกระพันกล่าว
ส่วนแนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาสที่่ 4 และปี 2568 เชื่อว่าจะได้ขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่รับรู้การด้อยค่าของทรัพย์สินไปจำนวนมาก ขณะที่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จะมีปริมาณการผลิตและขายเพิ่มขึ้นในปีหน้า หลังจากประสบความสำเร็จในการออกไปขยายการลงทุนยังต่างประเทศ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าจะทรงๆ แต่ดีกว่าปี 2567 เพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรจากการนำเข้า LNG
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ดำเนินงานได้ตามแผนงาน ลดการใช้พลังงานถ่านหินลง ส่วนใหญ่เป็นแก๊สและพลังงานทดแทน ป้อนไฟฟ้าให้กับความต้องการใช้ของทั้งกลุ่ม เชนเดียวกับ OR ที่ออกจากธุรกิจที่เคยมีกำไรมาก ตอนนี้ไม่ดีแล้ว เพิ่มธุรกิจใหม่ เช่นสถานีชาร์จ EV จะร่วมกับทั้งกลุ่มใช้แบรนด์เดียว กระจายไปทั่วประเทศ กำลังหาพันธมิตรเช่นเดียวกัน ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ ถัง ท่อและท่าเรือ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหาพาร์ทเนอร์ที่เก่งในการขยายโครงสร้างพื้นฐาน ปตท.มีเป้าหมายความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
นายคงกระพันกล่าวถึงกรณีราคาหุ้นของกลุ่มปตท.ปรับตัวลงว่าเป็นการปรับตัวตามคววามผันผวนของตลาด โดยมั่นใจในเรื่องการมีเสถียรภาพของบริษัทและความมั่นคงของเงินปันผล และยังส่งรายได้ให้กับกระทรวงการคลังสูงอย่างต่อเนื่อง สำหรับความเสี่ยงเรื่องเกณฑ์และการกำกับดูแล คาดว่าจะลดลงหลังจากทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
แนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาส4 และปี 2568 คงไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษด้านการด้อยค่าเหมือนไตรมาสที่3 ขณะที่ธุรกิจ ของปตท.สผ.จะดีขึ้น ในเรื่องการสำรวจที่มีปริมาณและโรงแยกแก๊สเดินเครื่องเพิ่มกำลังการผลิตหลังจากประสบความสำเร็จในการออกไปขยายการลงทุนยังต่างประเทศ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี คาดทรงๆ แต่ดีกว่าปี 2567 เพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรจากการนำเข้า LNG
ด้านผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2 %จากช่วงเดียวกันองปีก่อน โดยหลักจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กำไรที่มาจากบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากปตท. สัดส่วน22% โดยเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล
ปตท. เน้นย้ำเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุล มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สอดรับกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจพลังงานโลก
“ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” นายคงกระพัน กล่าว
———————————————————————————————————————————————————–