HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอกย้ำบรรษัทภิบาล-ภาวะผู้นำที่มีจริยธรรมรับมืออนาคต พร้อมขับเคลื่อนองค์กรฝ่าคลื่นการเปลี่ยนแปลง สร้างผลกำไร สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน SET ESG Professionals Forum 2024 เพื่อเป็นเวทีระดมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากมุมมองของผู้ขับเคลื่อน ESG ในองค์กรอย่างเครือข่ายสมาชิก SET ESG Experts Pool ซึ่งผนึกพลังร่วมขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการสู่ระดับสากล สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของตลาดทุนไทยในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ยั่งยืนและมีบรรษัทภิบาล สอดรับการดำเนินงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 โดยในปัจจุบันท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
บรรษัทภิบาลที่ดีถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นและการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมี “ผู้นำ” ที่มีวิสัยทัศน์และจริยธรรม จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างองค์กรที่ยั่งยืน ผู้นำยุคใหม่ต้องสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) สร้าง Legacy of Positive Impact และสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กร คู่ค้า และสังคมในวงกว้าง”ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า การมีระบบการกำกับดูแลที่ดียังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดความเสี่ยงและความขัดแย้ง รวมถึงส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกในองค์กร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าองค์กรจะดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มั่นคงและเติบโตในภาวะวิกฤตความเชื่อมั่นนี้
ดร. ดิเรก เกศวการุณย์ Managing Partner จาก Bain & Company Thailand กล่าวในหัวข้อ “Innovative Corporate Governance: Strategies for Long-term Value Creation” ถึงแนวทางการปรับโครงสร้างการกำกับดูแลให้ยืดหยุ่นและตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ว่า การกำกับดูแล หรือ Governance เป็นพื้นฐานที่ทำให้ทุกธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพราะมุ่งสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ที่จะต้องดูแลเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง ระมัดระวังการทุจริต การทำเรื่องภาษีภายในองค์กร
ทั้งนี้ บริษัทที่มีระดับการกำกับดูแลที่ดีในระดับสูง จะเผชิญกับความเสี่ยงในภาวะวิกฤตได้ดี และหลังวิกฤตสามารถสร้างผลการดำเนินงานได้ดีกว่าบริษัทที่มีระดับการกำกับดูแลต่ำ เพราะนักลงทุนและลูกค้า จะคอยสนับสนุนตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานด้วยได้ดีกว่า
“การกำกับดูแลที่ดี ไม่ใช่แนวโน้ม หรือ เทรนด์ แต่ควรจะสร้างให้เป็น DNA ขององค์กร สร้างการรับรู้ และตระหนักให้ทีมผู้บริหาร ซึ่งต้องมีการให้ผลตอบแทนพิเศษแก่ทีมบริหารที่สามารถสร้างผลการดำเนินงานเติบโตได้ในระยะยาว”ดร. ดิเรก กล่าว
ดร. ดิเรก กล่าวว่า การทำแผนระยะยาวเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งด้านการบริหารความเสี่ยง การสร้างสถานการณ์จำลอง การทดสอบ ความเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกด้านว่าจะกระทบต่อผลการดำเนินงานในระยะยาวอย่างไร
ทั้งนี้ ผู้บริหารต้องสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นางวารุณี ปรีดานนท์ ประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่นำเสนอ “Fraud Insights 2024” เปิดเผยผลสำรวจและสถิติการทุจริตในองค์กรธุรกิจในระดับสากล ว่า ผลการศึกษาหลักของ Occupational Fraud 2024 a report to national ที่ทำการศึกษาจาก 138 ประเทศ 1,921 คดี มูลค่าความเสียหายรวม 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
คิดเป็น 5% ของรายได้ต่อปี เฉลี่ยความเสียหาย 145,000 ดอลลาร์ต่อคดี
ทั้งนี้ เป็นการนำสินทรัพย์ไปใช้ในทางที่ผิด หรือยักยอกทรัพย์ มากที่สุด 89% แต่มูลค่าความเสียหายน้อย 120,000 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่การทุจริตทางการเงินมีน้อยแค่ 5% แต่มีมูลค่าความเสียหายสูงมากถึง 766,000 เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ จากผลศึกษาพบว่าการทุจริตเกิดจากระดับผู้บริหารระดับสูง และเพศชายมากที่สุด กลุ่มที่มีอายุการทำงานกับบริษัทนานทุจริตมากสุด โดยเกิดในฝ่ายปฏิบัติการ
สำหรับ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุจริตเกิดจากการที่องค์กรขาดการกำกับดูแลที่ดี
ทั้งนี้ บริษัทและองค์กรต่างๆ ของไทย ควรจะยกระดับการกำกับกิจการที่ดีในทุกระดับ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและให้ความสำคัญของการสร้างระบบป้องกันการทุจริตผ่านการกำกับดูแลและการเสริมสร้างระบบควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น