HoonSmart.com>>”ไออาร์พีซี”(IRPC) ลุ้นผลงานฟื้นในปีหน้า (2568) หลังปรับกลยุทธ์ประคองธุรกิจให้อยู่รอดก่อนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ด้วยการลดค่าใช้จ่าย-ต้นทุน รวมถึงนำดีเซลกลับเข้ามาขายในประเทศให้มากขึ้นถึง 75% ต่อวอลุ่มขาย, การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูง เป็น Specialty ในส่วน PP และ PE ปีนี้ได้ 30% ของกำลังการผลิต และขึ้นเป็น 50-60% ในอีก 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งจะบริหารจัดการบริษัทในเครือที่ไม่ทำรายได้ ส่วนผลงานไตรมาส 4 คาดว่าจะไม่เจอศึกหนักเหมือนไตรมาส 3 ที่ผ่านมาก
น.ส.เอธิตา อนันตธุรการ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส การเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ (2567) คาดว่าจะปรับตัวลง ซึ่งบริษัทก็จะต้องพยุงให้ได้ก่อน ด้วยการลดค่าใช้จ่าย โดยลดพนักงานให้เกษียณก่อนกำหนดจำนวนหลักร้อย ส่วนผลงานไตรมาส 4 คาดว่าจะไม่เจอศึกหนักเหมือนไตรมาส 3 ที่ผ่านมาก ถ้าไม่มี Surprise ราคาน้ำมันก็น่าจะดีกว่าไตรมาส 3 แต่ถ้าราคาน้ำมันปรับตัวลงก็ไม่ถึงกับแย่กว่าไตรมาส 3 และในปี 2568 การฟื้นตัวอาจไม่มาก แต่บริษัทฯก็ได้ปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจ โดยธุรกิจปิโตรเลียมในการขายดีเซลจะเน้นตลาด Domestic ก่อน อีกทั้ง IRPC สามารถผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงได้ ทำให้มีพรีเมียมมากกว่าบริษัทอื่น รวมถึงบริษัทในเครือไหนที่ไปต่อไม่ได้ก็จะต้องเลิกกิจการไป
กลยุทธ์ของ IRPC ช่วงนี้ไปจนถึงปี 2568 จะพยายามประคองธุรกิจให้อยู่รอด ซึ่งจะใช้กลยุทธ์ Core Uplift ในการลดค่าใช้จ่ายและต้นทุน ซึ่งจะเน้นลดค่าใช้จ่าย (SG&A) ให้มากที่สุด ดำเนินการไปจนถึงปี 2568 ส่วนธุรกิจหลักของบริษัท ธุรกิจปิโตรเลียม จะนำดีเซลกลับมาขายในประเทศ (Domestic) พยายามทำให้มากขึ้นถึง 75% ต่อวอลุ่มขาย ธุรกิจปิโตรเคมี นอกจากจะลดต้นทุนเพื่อให้บริษัทสามารถต้านทานกับสเปรดที่ค่อนข้างแคบได้ ด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูงขึ้น เป็น Specialty ในส่วน PP และ PE ปีนี้ได้ 30% ของกำลังการผลิต และขึ้นเป็น 50-60% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก ทาง IRPC มี 10 กว่าบริษัท มีทั้งปิโตรเลียม ขนส่ง ปิโตรเลียมทางเรือ และทำให้ส่วนของการประกอบรถยนต์ รวมถึงทำนิคมอุตสาหกรรม ร่วมกับ WHA เพื่อทำนิคมเขตระยอง ปัจจุบันบางสามารถทำรายได้ได้ สามารถทำรายได้ 5-6 บริษัท ส่วนที่ประคองตัวก็ยังมีอยู่มาก เนื่องจากต้องนำงบฯมารวมกับบริษัทแม่ ทำให้กำไรของบริษัทลดทอนลงไปบ้าง ดังนั้นบริษัทก็จะต้องมีการบริหารจัดการ ทั้งอาจต้องเลิกกิจการ, ขายหุ้น หรือทำด้านอื่น ๆ เป็นต้น
สำหรับการจัดการพอร์ตโฟลิโอของบริษัท จะดูสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั้ง ที่ดิน, ท่าเรือ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในส่วนการทำธุรกิจต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการจัดการด้วยการขาย หรือทำธุรกิจอื่น รวมไปถึงอาจร่วมทุน นำต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์ภายในนิคมอุตสาหกรรม ระยอง
เป้าหมายการลงทุนแต่ละธุรกิจของบริษัทฯ ดังนี้ 1. Health & Life Science ซึ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ PP โดยตรง การนำโพลิเมอร์ไปทำเส้นใยต่าง ๆ อย่างเช่น ผ้าอ้อม ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ 2. Advanced Materials พัฒนา Materials ให้ตอบโจทย์ยุคสมัย ตอนนี้ก็มีทำกับบริษัทหนึ่งในไทยนำ PP Powder ไปผสมให้เป็นวัตถุดิบ ซึ่งก็จะมีข่าวออกมาในเร็ว ๆ นี้ จะเป็นข่าวเซ็น MOU หรือเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการแล้ว และจะมีการทำฉนวนหุ้มแบตเตอรี่ใช้ในรถยนต์ 3.Green & Circular เน้นทำ PP รีไซเคิล ให้จับตาความคืบหน้าในปีหน้า (2568) 4. Future Energy เป็นการทำโซลาร์ฟาร์มไปแล้ว 2 เฟส ซึ่งยังไม่ครอบคลุมใช้ได้ทั้งหมด และมีแผนที่จะทำโซลาร์ฟาร์มในเฟสถัดไป และ 5. Assets & Services มีการศึกษาธุรกิจโรงพยาบาลร่วมกับปิยะเวท และจะคุยกันกับตางประเทศเข้าไปทำท่าเรือขนส่งของเหลว และสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)
ทั้งนี้ บริษัทจะควบคุมค่าใช้จ่าย (OPEX) และงบลงทุน (CAPEX) อย่างต่อเนื่อง โดยยกความยั่งยืน เน้น Net Zero ในการลด Green House gas ให้ได้ 20% ภายในปี 2573 และปรับปรุงคะแนน ESG ด้านการเงินจะสร้างสมดุลระหว่างเงินทุนเพื่อการเติบโตและสุขภาพทางการเงิน ส่วนบุคลากรส่งเสริมประสิทธิภาพแรงงานให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้
น.ส.เอธิตา กล่าวว่า ในส่วนของการจัดการสต็อก (Inventory) ในปี 2566 มีสูงถึง 10 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นภาระของบริษัท ทำให้อาจเกิด Stock loss ได้จากราคาน้ำมันปรับตัวลง และหมดสภาพคล่อง ดังนั้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องก็ได้ทำการลด Inventory ให้เหลือ 8 ล้านบาร์เรล ซึ่งก็ทำได้แล้ว
สำหรับนโยบายของ”ทรัมป์”คงจะเน้นที่สหรัฐฯก่อน การขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อตัดคู่แข่ง ซึ่งบริษัทเผชิญกับความท้าทายใหม่ นโยบายต่างไปจากประธานาธิบดีสหรัฐคนเดิม นโยบายแรกสร้างความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่คาดจะทรงตัวหรือลดลงตามปริมาณการผลิตน้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในสหรัฐ ซึ่งอาจกระทบ Stock ได้ ส่วนทางจีนก็มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือนต.ค.ออกมาชัดเจน ซึ่งน่าจะทำให้สเปรดปิโตเคมีปรับขึ้นได้ แต่จีนก็เจอผลกระทบด้านภาษีจากสหรัฐฯ มีผลในเรื่องการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาในเอเชีย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ยังสามารถเข้าไปจัดการที่ดินได้ ถ้าย้ายมาไทยก็จะดี จึงต้องจับตาดูจีนต่อไปว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ส่วนบริษัทเป็นผู้ตาม ก็จัดการให้เหมาะสมตามสถานการณ์
———————————————————————————————————————————————————–